ตัวอย่างการบูรณาการศาสตร์ทางสถาปัตยกรรมประยุกต์สู่ประเด็นในการออกแบบภายใน

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชัยณรงค์ อริยะประเสริฐ


ปัจจุบันนี้องค์ความรู้ในศาสตร์สาขาวิชาการต่างๆ ที่ดูเหมือนจะเคยแยกกันอยู่ในอดีต กำลังจะกลับฟื้นคืนด้วยการนำมาให้คุณค่าและความสำคัญใหม่ในแนวทางที่เรียกว่าบูรณาการข้ามศาสตร์ (Transdisiplinary) ซึ่งการบูรณาการ หรือ integration ความหมายคือการทำให้สมบูรณ์ การทำให้หน่วยย่อยๆ ทั้งหลาย ที่สัมพันธ์อิงอาศัยซึ่งกันและกัน เข้ามาร่วมทำหน้าที่ประสานกลมกลืนเป็นองค์รวมหนึ่งเดียว ที่มีความครบถ้วนสมบูรณ์ในตัว โดยอาศัยการเชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อทั้งการขยายฐานและเพื่อการต่อยอดทางความคิด และความรู้ที่ผ่านมา การจัดการประชุมวิชาการของอิโคโมสไทยประจำปี 2549 และการประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่อง “การอนุรักษ์และพัฒนามรดกวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างยั่งยืนในแนวทางบูรณาการข้ามศาสตร์” (Sustainable Local Heritage Conservation : The Transdisciplinary Approach) นั้นแสดงให้เราเห็นถึงความเป็นไปได้ในการผนวกรวมเอาองค์ความรู้ในสาขาวิชาต่างๆ เพื่อเอกภาพทางการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์มรดกทางศิลปวัฒนะรรมของท้องถิ่นด้วยกระบวนการทางศาสตร์ที่หลากหลายกว่าเดิม

ลักษณะของการเกิดขึ้นของวิธีมองและแนวปฏิบัติดังกล่าว ในสาขาวิชาชีพทางด้านศิลปะและการออกแบบบางสาขาวิชานั้น มีการศึกษาศาสตร์ทางด้านศิลปะและการออกแบบควบคู่ไปกับการศึกษาศาสตร์ทางด้านสถาปัตยกรรม จนอาจกล่าวได้ว่าได้มีความพยายามและได้ดำเนินการโดยวิธีการทางบูรณาการมานานพอสมควรแล้ว ด้วยความที่ปณิธานและปรัชญาของแต่ละสถาบัน จึงทำให้ผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรมทางการศึกษานั้นจะเป็นผลงานออกแบบและผลงานสร้างสรรค์ของทั้งนักศึกษาและคณาจารย์ อันเกิดจากอุตสาหะพากเพียรทั้งด้านความรู้ และทักษะที่ผสมผสานเป็นเนื้อเดียวกันอย่างยากที่จะแยกออกจากกันได้อย่างเป็นลำดับขั้นตอนเพื่ออธิบายกระบวนการ

ปัญหาของการชี้วัดระดับความสร้างสรรค์ของผลงานนั้นถูกสังคมวิชาการและสังคมวิชาชีพ ได้ตั้งคำถามอยู่หลายยุคหลายสมัยและดูเหมือนว่าจะยังคงท้าทายศักยภาพในกาประเมินต่อนักวิชาการศึกษาอยู่กระทั่งปัจจุบัน ตราบกระทั่งองค์รวมของความรู้ (Holistic View) และตัวอย่างผลงานวิจัยจากศาสตร์ข้างเคียง ได้ถูกนำมาทำความเข้าใจและพิจารณาอย่างละเอียด ได้ทำให้เราได้เห็นถึงความเป็นไปได้ในความพยายามที่จะค้นหา เพื่อให้ค้นพบตัวชี้วัดต่อการวิจัย โดยอาศัยการเทียบเคียงศาสตร์ในสาขาแวดล้อมต่างๆ และกรณีเสนอแนะการศึกษาตัวอย่างกรณีที่จะกล่าวต่อไปนี้ ก็ถือเป็นความพยายามที่ทำให้ปรากฎให้เห็นเป็นรูปธรรม ต่อเมื่อเราได้กำหนดประเด็นปัญหาจากสภาพการณ์ในปัจจุบัน และพยายามทำความคลุมเครือนั้นให้กระจ่าง เราก็จะได้ค้นพบว่าความเป็นจริงสากลของทุกสิ้งนั้นล้วนมีรากเหง้ามาจากความจริงสูงสุดเดียวกัน

พุทธสถานที่เรียกว่าวัดนั้นมีความสำคัญต่อสังคมของสยามประเทศมาช้านาน โดยตัวพุทธสถานอันหมายถึงวัดนี้นอกจากจะใช้เป็นที่พำนักอาศัยของพระสงฆ์แล้ว ก็ยังนำมาใช้ประกอบศาสนพิธีรวมถึงเมื่อได้ปรับเข้ากับค่านิยมและความเชื่อของคนสยามแล้ว วัดก็ยังเป็นศูนย์กลางการศึกษาแห่งแรกของสยามในอดีตด้วย และเหตุนี้เองที่ทำให้วัดนั้นจึงเป็นศูนย์กลางทางสังคมของชุมชนและก่อให้เกิดความเลื่อมใสต่อบวรพุทธศาสนาที่นำมาสู่รูปแบสถาปัตยกรรมศรัทธาที่โดดเด่นและเฉพาะตัว

ความโดดเด่นเฉพาะตัวของรูปแบบสถาปัตยกรรมเกิดจากคตินิยม และความเชื่อ ที่อาศัยแนวคิดแบบคล้อยตามกันที่ยอมรับเอาระบบความคิดใดๆ มายึดถือเป็นแบบแผนที่ก่อให้เกิดชุดระบบคุณค่าหนึ่งร่วมกัน ก่อให้เกิดแบบแผนวัฒนธรรม ประเพณี และกิจกรรมต่างๆ และผูกพันกันมาในสังคมสยาม และเพราะเอกภาพของสยามนั้นอยู่บนพื้นฐานของอัตลักษณ์ที่แตกต่างหลากหลายจากช่วงปลายรัชกาลที่ 5 มาจนถึงปัจจุบัน ความเป็นองค์รวมของสังคมไทยก็ถูกแปรเปลี่ยนเป็นแบบแยกส่วนมากขึ้น การนำเข้าแนวคิดรัฐนิยมและทุนนิยมที่มีรากฐานจากแนวคิดแบบแยกส่วน ได้เข้ามายึดครองพื้นที่ทางความคิดและการบริหารจัดการในหลายส่วนของสังคมไทย กระแสทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ที่เข้ามา ก็ยิ่งเร่งรัดกระบวนการแปรรูปสังคมไทยให้เป็นแบบแยกส่วนมากขึ้นไปอีก จนในวันนี้พื้นที่ของความเป็นองค์รวมก็ลดน้อยลงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน มาวันนี้ อัตลักษณ์ที่หลากหลายของผู้คนกำลังถูกทำให้เหลือเป็นเพียงการเป็นทรัพยาการของชาติเท่านั้น

จากการปฏิรูปการศึกษาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลักษณะโครงสร้างทางสังคมก็เกิดการเปลี่ยนแปลง ศูนย์กลางทางสังคมของชุมชนอย่างวัดในอดีตจึงค่อยๆ เริ่มต้นถูกลดบทบาทลงทีละน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่เป็นการเปลี่ยนศูนย์กลางการศึกษาจากวัด เป็นโรงเรียนตามระบบการศึกษาที่ได้รับแบบแผนมาจากชาติตะวันตก วัยเด็กที่เคยได้รับการปลูกฝังอุ้มชูจากวัดจึงได้เหินห่างออกไปเรื่อยๆ

ศาสนาและความเชื่อ รวมถึงพัฒนาการความรู้จากชาติตะวันตกส่งผลต่อทัศนคติในอดีตที่ถูกถ่ายทอดปลูกฝังกันมาก่อให้เกิดการประทะและการเผชิญหน้ามากขึ้น ข้อเท็จจริงและเหตุผลต่าๆง ทางด้านวิทยาศาสตร์ก็ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคมซึ่งเป็นผลของการรับเอาความรู้และแนวความคิดแบบตะวันตกมาปรับใช้อย่างไม่มีการคาดคะเนหรือดูแลอย่างรอบคอบ

ผลกระทบดังกล่าวค่อยๆ เริ่มเป็นปัญหาต่อเด็กที่อยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียนมากขึ้น ในด้านจิตวิทยาและให้ด้านพฤติกรรม การแสดงออกที่ก้าวร้าว และขาดความยับยั้งชั่งใจเริ่มเข้ามาเป็นปัญหาใหม่ในสังคมมากขึ้นเป็นลำดับ ลักษณะของการจัดการทางสังคมของบุคคลที่มีพื้นฐานจากคตินิยม ความเชื่อ และประเพณี ถูกท้าทายและถูกจัดวางทางความคิดของบุคคลบางวัยมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัยรุ่น วัยที่ในระยะวัยรุ่นตอนต้น มีการเรียนรู้บทบาทและกฏเกณฑ์ของสังคม และทำให้สร้างสัมพันธ์อย่างดีต่อไปเมื่อเป็นผู้ใหญ่ แต่กระนั้น วัยรุ่นช่วงนี้ยังมีลักษณะของเด็กที่ยังเอาแต่ใจตนเองโดยยึดความคิดและเอาตนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งโดยลักษณะดังกล่าวนั้นในสังคมไทยในอดีตจะอาศัยกลไกทางสังคมที่มีพื้นฐานแบบครอบครัวขยายมาใช้จัดการกับปัญหาต่าๆง ซึ่งถือเป็นวัฒนธรรม ซึ่งถือเป็น “ข้อตกลงของกลุ่ม” หรือ “กฎต่างๆ ของกลุ่ม” ที่เกิดจากการยอมรับของสมาชิกในกลุ่ม และปฏิบัติร่วมกัน ข้อตกลงของกลุ่มนี้เรียกอีกอย่างหนึ่ว่า “ปทัสถาน” หรือ Norm ของกลุ่ม ซึ่งความรักและความผูกพันด้วยลักษณะความสัมพันธ์ทางสังคมรูปแบบนี้เองที่สูญเสียไป ทำให้บทบาทของเพื่อน การมีเพื่อน และการเป็นที่ยอมรับของกลุ่มเพื่อนเป็นสิ่งสำคัญมากในการพัฒนาจากจิตใจของวัยรุ่นในปัจจุบัน

วัยรุ่นบางคนอาจจะมีระยะเวลาสั้นๆ ที่ตนเองรู้สึกเหมือนกับว่าอยู่ห่างจากคนอื่นๆ เหมือนอยู่คนเดียวในโลก บางครั้งมีความรู้สึกเหมือนว่าจะควบคุมความคิดตนเองไม่ได้ สิ่งเหล่านี้เกิดชั่วครั้งชั่วคราว ความคิดแปลกๆ ใหม่ๆ เกิดขึ้นในวัยรุ่นได้เสมอ และจะเกี่ยวช้องกับสังคม วัฒนธรรม ศาสนา ลัทธิการเมือง ปรัชญา ฉะนั้นวัยรุ่นที่ปรับตัวได้ดี จะไม่หมกหมุ่นกับความคิดของตนเองเกินไป

การรู้สึกคล้อยตามเป็นเหตุการณ์ทางจิต เป็นพฤติกรรมภายใน หรือ Covert behavior แต่เมื่อการรู้สึกนี้แสดงออกมาเป็นการกระทำ ก็เรียกว่าพฤติกรรมภายนอก หรือ Overt behavior ถ้าเป็น Cognitive Psychology ก็ใช้ทั้งพฤติกรรมภายในและพฤติกรรมภายนอก แต่ถ้าเป็น Behaviorism ส่วนใหญ่จะใช้แต่พฤติกรรมภายนอกอย่างเดียว

เราอาจพบเห็นการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้จากสื่อต่างๆ ในสังคมปัจจุบัน การเรียกร้องสิทธิการเลือกศาสนาเวลาเกิด และความเสื่อมถอยของศีลธรรมจริยธรรมของวัยรุ่น ซึ่งเป็นผลโดยตรงมาจากระบบคุณค่าในประสบการณ์ของเด็กวัยรุ่นที่มีความเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต ที่เราเรียกกันว่าการเปลี่ยนแปลงของระบบมโนทัศน์ (Conceptual System) อันเป็นการจัดระเบียบทางความคิดในจิตที่มีต่อสภาพแวดล้อมภายนอกต่อสิ่งต่างๆ รอบๆ ตัว ซึ่งเป็นองค์ประกอบของกระบวนทรรศน์ (Paradigm) หรือความคิดเห็น หรือทรรศนะพื้นฐานอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง อันกำหนดแบบแผนการคิดและการปฏิบัติในประชาคมหนึ่งๆ ซึ่งกระบวนทรรศน์ของประชาคมกลุ่มวัยรุ่นนี้ อาจกล่าวได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลง (Paradigm shift) หากแต่เปลี่ยนแปลงไปเป็นแบบไหน ขนาดไหน อย่างไร และถือว่าเป็นการพัฒนาหรือไม่ เมื่อเทียบกับปัญหาทางสังคมที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบอยู่ เช่น ปัญหาที่เกี่ยวกับคติความเชื่อที่ใช้สร้างลักษณะสำคัญขององค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมในสถาปัตยกรรมไทยอันเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ถึงความเหมาะสมในปัจจุบัน

คติ “ลูกปูเดินตามอย่างแม่ปู” ที่กระทั่งนำมาสร้างสรรค์ล้อเป็นเพลงลูกทุ่งที่ได้รับความนิยมในยุคนี้ อาจสามารถใช้อธิบายภาพสะท้อนถึงการละเลยปัญหา ให้ค้างคาและให้ประสบอยู่ ต่อเรื่องการนำภาพลักษณ์ด้านศิลปวัฒนธรรมแค่เพียงการแสดงออกทางภาพลักษณ์ออกมาเผยแพร่ต่อสากลสาธารณะด้วยเป้าประสงค์เพียงเพื่อจะ “ขายหรือส่งออก” เพียงวัฒนธรรมผลลัพธ์ทางสายตาม ตั้งแต่ครั้งอดีตกระทั่งปัจจุบันที่ผลของมันได้ทำให้สังคมของนักออกแบบหรือนักสร้างสรรค์ความพึงพอใจต่อธุรกิจบริการ และการให้บริการความพึงพอใจกับลูกค้าและนักท่องเที่ยว ได้สร้างโศกนาฏกรรมทางการออกแบบและการสร้างสรรค์ โดยอาศัยรูปแบบขององค์ประอบทางสถาปัตยกรรมในสถาปัตยกรรมไทยมาใช้กับการตกแต่งโดยมิได้ทำความเข้าใจอย่างรอบคอบซึ่งสร้างความสับสนในการรับรู้ให้เกิดขึ้นในสังคม

การรับรู้ความเป็นสถานที่ต่างๆ และความแตกต่างกันของสถานที่ในระบบมโนทัศน์ของเด็กวัยรุ่นต่อศาสนาสถานยังคงถูกทำให้สับสนมากเข้าไปอีกอันเกิดจากพฤติกรรมการแสดงภาพลักษณ์ของบุคคลที่ส่อนัยยะไปทางปัจเจกบุคคลมากขึ้น ในยุคหลังสมัยใหม่นี้ความรู้สึกนึกคิดที่เป็นปัจเจกบุคคลส่งผลต่อการรับรู้สภาพแวดล้อมและกาตีความไปสู่พฤติกรรมการแสดงออกในด้านต่างๆ ที่พบเห็นผ่านระบบสื่อสารมวลชน เช่น ภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์หรือแม้แต่โฆษณา รายการแข่งขันนางแบบจากประเทศตะวันตกปีหนึ่ง ที่ใช้ประเทศไทยเป็นฉากหลักในการถ่ายทำโดยมีการจำลองสภาพการตกแต่งภายในพระที่นั้งสรรเพชญ์ปราสาท เพื่อใช้เป็นฉากสำคัญสำหรับการคัดเลือกนางแบบ การลอกแบบสถาปัตยกรรมพุทธสถานของวัดต่าๆง เช่น วันไหล่หิน จังหวัดลำปางเพื่อนำมาทำเป็นห้องจัดเลี้ยงขนาดเล็กในโรงแรมแห่งหนึ่งทางภาคเหนือของประเทศไทย ความนิยมในเรื่องเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่มีลักษณะเฉพาะ ที่เน้นไปในภาพลักษณ์ที่ทำให้นึกถึงศาสนา เช่น การนำเอาผ้ามาย้อมสีกลักเพื่อตัดเป็นชุดแฟชั่นโชว์ของศิลปินและนักออกแบบชื่อดังทั้งในและต่างประเทศ

ในด้านพฤติกรรม เช่น การเกี้ยวพาราสีหรือกิริยาอาการที่ไม่สำรวมในศาสนสถานที่เราได้ปรากฎพบเห็นผ่านสื่อต่างๆ มีอยู่มากมายไม่ขาดสายในช่วงเทศกาลสำคัญทางศาสนาต่างๆ ของไทย ซึ่งโดยมากมักเป็นช่วงคืนพระจันทร์เต็มดวงที่คล้ายกับเทศกาลคืนงานฉลองพระจันทร์เต็มดวงซึ่งจัดเป็นเทศกาลสำคัญต่อนักท่องเที่ยงชาติตะวันตกในเกาะบางเกาะทางตอนใต้ของประเทศไทย

พฤติกรมการแสดงออกดังกล่าวมาข้างต้นนั้น ล้วนคลุมเครือและอาจขาดความเหมาะสมต่อสถานที่หรือกาลเทศะ ถ้าเราใช้ประสบการณ์ทางสังคมของเราในฐานะผู้ที่ได้ผ่านมาแล้วเป็นมุมมอง แต่ข้อเท็จจริงคืออาจเป็นไปได้ว่าบุคคลขาดความรู้ในเรื่องสิ่งที่พึงปฎิบัติต่อศาสนสถาน หรือกระทั่งบุคคลอาจขาดความรู้จักแยกแยะถึงสัญญาณชี้แนะทางทัศนาการที่จำแนกพุทธศาสนสถานในระบบมโนภาพออกจากอาคารสถานสาธารณะทั่วๆ ไป อันส่งผลให้ปรากฎเป็นระบบมโนทัศน์และทัศนคติหรือกระบวนทรรศน์ที่บิดเบือนไป สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนรบกวนจิตใจต่อ “เรา” ในฐานะผู้สังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม ที่ทั้งแบ่งปันรูปแบบของประสบการณ์ใหม่ๆ ในสังคมและตอบสนองพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน

เพื่อต้องการจะทราบลักษณะความเกี่ยวข้อง และความสัมพันธ์กันของปัญหาในมุมมองของนักออกแบบ และสถานภาพความเป็นบุคลากรด้านการศึกษาจึงได้ทดลองดำเนินการสร้างข้อเสนอที่มีวัตถุประสงค์ของการศึกษา 3 ประการ ได้แก่ เพื่อศึกษาลักษณะของพุทธสถาปัตยกรรมที่ส่งผลถึงการรับรู้ภาพลักษณ์ทั่วๆ ไป โดยหมายจะได้องค์ความรู้สำคัญที่จะใช้แยกแยะองค์ประกอบทางการเห็นภาพสถาปัตยกรรม เพื่อจำแนกประเภทรูปร่าง และรูปทรงบางประการ ซึ่งมีผลต่อการรับรู้เฉพาะทางพุทธสถาปัตยกรรม ที่มีต่อกลุ่มบุคคลที่แตกต่างกัน โดยปัจจัยเฉพาะพื้นฐานเช่น เพศ วัย สถานภาพ ฯลฯ

ประการต่อมา คือ เพื่อศึกษาจินตภาพในการรับรู้ภาพลักษณ์สถาปัตยกรรม โดยความรู้ที่ได้จากประการนี้จะนำมาใช้อธิบายถึงขั้นตอนและกลไกในการรับรู้ของบุคคลต่อการพบเห็นรูปทรงและรูปร่างบางประเภทที่มีนัยสำคัญที่สัมพันธ์กับการรับรู้ถึงความเป็นสถาปัตยกรรม ซึ่งในที่นี้จะนำไปสู่วัตถุประสงค์ในข้อสุดท้ายคือ เพื่อศึกษาพุทธสถาปัตยกรรมในจินตภาพของวัยรุ่นปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นการบูรณาการความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่ค้นพบในวัตถุประสงค์ 2 ข้อแรก ให้ได้กระบวนการทดลองที่เหมาะสมในการหาคำตอลและใช้อธิบายผลที่เกิดขึ้น รวมถึงในการเสนอแนะในบทสรุปของการศึกษา อนึ่ง แนวในการตั้งคำถามเพื่อการศึกษาน่าจะมีลักษณะที่สะท้อนถึงความต้องการตัวคำตอบโดยมีลักษณะของหัวคำถามว่ามีอะไรบ้าง เป็นอย่างไร มีวิธีใดบ้าง และได้ผลเป็นอย่างไร โดยในคำถามส่วนต่างๆ นั้นจะต้องอาศัยองค์ความรู้เพิ่มเติมเพื่อใช้ช่วยในการดำเนินการ ดังต่อไปนี้

1. พุทธสถานมีภาพลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมอะไรบ้างที่บุคคลรับรู้ได้
1.1 องค์ประกอบของพุทธสถานในเชิงสถาปัตยกรรม
1.2 กระบวนการรับรู้ทางทัศนาการ (Visual perception process)
1.3 การวิเคราะห์พฤติกรรมภายนอก (Overt – behavioral analysis)

2. จินตภาพในการรับรู้ภาพลักษณ์สถาปัตยกรรมของวัยรุ่นเป็นอย่างไร
2.1 องค์ความรู้เรื่องการศึกษาจินตภาพของสภาพแวดล้อม
2.2 การรับรู้จินตภาพของสถาปัตยกรรมของบุคคลเป็นอย่างไร
2.3 ความแตกต่างเรื่องวัยในการรับรู้จินตภาพของสถาปัตยกรรม

3. มีวิธีใดในการค้นหาพุทธสถาปัตยกรรมสถานในจินตภาพของวัยรุ่น
3.1 ความรู้ในการทดลองค้นหาจินตภาพของสภาพแวดล้อม
3.2 ความรู้ในเรื่องกระบวนการวิเคราะห์ผลการทดลอง

4. เมื่อทำการทดลองค้นหาพุทธสถาปัตยกรรมสถานในจินตภาพของวัยรุ่นแล้ว ได้ผลเป็นอย่างไร
4.1 การออกแบบการทดลองและการชี้วัดผล
4.2 การอธิบายผลของการศึกษาทดลอง
4.3 การสรุปและการตั้งข้อสังเกต
4.4 การสรุปและเสนอแนะต่อข้อผิดพลาดหรือการศึกษาครั้งต่อไป

เมื่อกรรมวิธีเกิดขึ้นในภาพร่างทางความคิด ก็ควรจะจัดทำผังโครงสร้างทางความคิด (Conceptual Model) เพื่อกำหนดเป็นลำดับขั้นตอนทางภาพ เพื่อจะใช้เป็นประโยชน์ต่อการวางขอบเขตของกลุ่มความคิดที่เชื่อมโยงกันจะได้หาวิธีหรือหน่วยในการชี้วัดที่เหมาะสมต่อไป โดยในการเสนอแนะครั้งนี้จะขอกล่าวข้ามไปและวางกรอบต่อขอบเขตเอาไว้เบื้องต้น ดังต่อไปนี้

1. ขอบเขตด้านรูปแบบของพุทธสถาปัตยกรรม
I. มุ่งศึกษาพุทธสถาปัตยกรรมประเภทวัดเท่านั้น
2. ขอบเขตด้านภาพลักษณ์ทางสถาปัตยกรรม
I. มุ่งศึกษาภาพลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมเฉพาะที่เป็นองค์ประกอบบนพื้นที่เพียงส่วนเดีย
ได้แก่เขตพุทธาวาส เท่านั้น
3. ขอบเขตด้านกระบวนการรับรู้ทางทัศนาการ (Visual perception process)
I. มุ่งศึกษากระบวนการรับรู้ทางทัศนาการ (Visual perception process) ที่ก่อให้เกิดนิรูปของเค้าโครงทางจิตที่นำไปสู่จินตภาพของพุทธสถาปัตยกรรมบนท้องถิ่นเดียวกันเท่านั้นโดยมุ่ง ศึกษาไปที่รูปแบบของพุทธสถาปัตยกรรมที่สัมพันธ์กับศิลปะและวัฒนธรรมเพื่อเทียบเคียงกันได้โดยประเด็นมิติทางวัฒนธรรมที่กว้างต่อการรับรู้ออกจากการศึกษา
4. ขอบเขตด้านองค์ความรู้เรื่องการศึกษาจินตภาพของสภาพแวดล้อม
I. มุ่งศึกษาเฉพาะจินตภาพของพุทธสถาปัตยกรรมที่นำไปสู่การเข้าใจความหมายที่ก่อให้เกิดมิติฐานมูลของความรู้สึก ต่อพุทธสถาปัตยกรรมนั้นๆ
5. ขอบเขตของการค้นหาพุทธสถาปัตยกรรมในจินตภาพของวัยรุ่น
I. มุ่งศึกษาเฉพาะวัยรุ่นจากกลุ่มทดลองที่เป็นคนไทย และนับถือศาสนาพุทธ
II. มุ่งทำการศึกษาโดยใช้วิธีหรือแนวทางของผู้ที่เคยศึกษาในลักษณะคล้ายคลึงกันมาแล้วเป็นหลัก
6. ขอบเขตของความรู้ในกระบวนการวิเคราะห์ผลการทดลอง
I. มุ่งใช้การผสมผสานหลักวิชาหลายหลักทางด้านจิตวิทยาสภาพแวดล้อม โดยทำการวิเคราะห์และสรุปการทดลองด้วยแบบนิรนัยเป็นหลัก

จะเห็นได้ว่า เมื่อเราดำเนินการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบขั้นตอนกระบวนการเพื่อใช้จำแนกอย่างชัดเจน จึงเป็นวิธีที่มีเหตุผลที่จะนำมาใช้อธิบายต่อความยุ่งเหยิงและซับซ้อนในความรู้และกระบวนการของขั้นรายละเอียด การวางข้อจำกัดในการศึกษารวมไปถึงขอบเขตของการศึกษาโดยเจตนาแล้ว มิได้หมายถึงการยอมประนีประนอมแลกจรรยาบรรณของผู้สอนต่อความท้าทายในการทำการศึกษา หากแต่เพื่อความชัดเจนให้กระจ่างและเพื่อการก้าวต่อไปข้างหน้า โดยไม่คำนึงถึงความสำคัญของผลลัพท์ หรือคำตอบต่อการเป็นข้อสรุปสากล (Generalization) เพื่อเป็นทั้งขยายฐานทางเทคนิคความรู้ต่อการบูรณาการข้ามศาสตร์ และเพื่อเป็นการต่อยอดทีละเล็กละน้อย โดยยืนอยู่บนมิติความรู้ความคิดและความเข้าใจที่เป็นบริบทของ “เรา” เอง

หากจะเทียบความเหมือนหรือความต่างของหัวข้อการศึกษาวิจัยดังกล่าว ต่อการศึกษาวิจัยโดยทั่วไป ซึ่งคงจะต้องอาศัยความพากเพียรอย่างมากโดยตนเอง ต่อการศึกษาดังกล่าวในการทบทวนวรรณกรรมและการสรุปสาระสำคัญที่กระจัดกระจายนั้น ให้ปะติดปะต่อกันอาทิเช่น การศึกษากรณีตัวอย่างนี้ จำต้องอาศัยความรู้ที่มีในเรื่องต่างๆ ดังเช่น
- การเกิดเค้าโครงทางจิต (mental schemata) ในกระบวนการรับรู้
- ส่วนหนึ่งที่ปรากฎเป็นจินตภาพ เป็นส่วนที่เกิดจากการรับรู้สภาพแวดล้อมกายภาพทางทัศนาการและจะชัดเจนได้หากเป็นจินตภาพของสภาพแวดล้อมเฉพาะ
- การศึกษาของโทลแมน (Tollman, 1948) การเรียนรู้ที่เกินจากความเข้าใจ
- การศึกษาของลินช์ (Lynch, 1960) การศึกษาจินตภาพของเมือง
- การศึกษาของบลอท และเสตีย (Blaut and Stea, 1971 ; Mark, 1972) การใช้เทคนิคแบบของเล่นที่ตรวจสอบเกี่ยวกับความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์ของตำแหน่งของสิ่งต่างๆ
- การศึกษาความหมายของสภาพแวดล้อม
- การค้นหามิติฐานมูลของความรู้สึกต่อสภาพแวดล้อมกายภาพ
- การศึกษาของหรยางกูร (Horayangkura, 1978 ; Lowenthal and Riel, 1972 ; Canter, 1971 Hersberger, 1970 ; Vielhauer 1965 ฯลฯ)
- การศึกษาของโลเวนทอลและรีล (Lowenthai and Riel, 1972) การค้นหามิติสำคัญของเมืองในสหรัฐ 4 เมือง โดยการเดินผ่านสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่เลือกแล้วว่าเป็นตัวแทนของสภาพแวดล้อมทั้งหมดของแต่ละเมือง
- การศึกษาด้วยวิธีอื่นๆ เช่น repertory Grid และ multidimensionalscaling.

ผลลัพท์ของการศึกษานี้น่าจะได้มาซึ่งวิธีหรือเกณฑ์ ที่จะทำให้ความคิดหรือที่เรียกว่า “กระบวนทรรศน์” ต่อรูปแบบในการออกแบบสภาพแวดล้อมที่มีลักษณะ “อย่างแบบแผนไทย” นั้นเปลี่ยนไป และอาจนำมาซึ่งการตั้งคำถามที่ท้าทายศักยภาพที่สร้างสรรค์โดยสังคมทั้งทางวิชาการและวิชาชีพที่ตามมาอย่างมากมาย และน่าจะทำให้แวดวงวิชาชีพและวิชาการทางด้านศิลปะและการออกแบบ รวมไปถึงสาขาวิชาแวดล้อมได้เดินไปข้างหน้าด้วยกันอย่างมั่นคงและภาคภูมิ โดยปราศจากการแบ่งแยกทางความรู้ใดๆ ...อย่างสร้างสรรค์และงดงาม

บรรณานุกรม
บูรณาการกับพัฒนาการ. (27 พ.ย.2549). Available URL :
http://www.seameo.org/vl/th_education/integrate.htm.
สมคิด จิระทัศนกุล, วัด : พุทธศาสนสถาปัตยกรรมไทย, พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2545.
สังคมไทยแบบองค์รวมกับองค์รวมแบบไทยๆ. (24 สิงหาคม 2549). Available URL :
http://nokkrob.org/index.php?&obj=forum.view
(cat_id=c002,id=19)&PHPSESSID=a5e9c6b0551815a952f331a9c79ce0a5.
พ.ญ.ลำดวน นำศิริกุล. “วัยรุ่น”, แม่และเด็ก.21,315 (พ.ค.-มิ.ย.2541) : 125-130.
วิมลสิทธิ์ หรยางกูร, “โครงสร้างของสิ่งที่เรียนรู้และจำได้ในจากสภาพแวดล้อมกายภาพ : ระบบมโนทัศน์” ใน
พฤติกรรมมนุษย์กับสภาพแวดล้อมมูลฐานทางพฤติกรรมเพื่อการออกแบบและวางแผน, (กรุงเทพฯ :
สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2545), 153.
วิมลสิทธิ์ หรยางกูร, “การศึกษาจินตภาพของสภาพแวดล้อม” ใน พฤติกรรมมนุษย์กับสภาพแวดล้อม : มูล
ฐานทางพฤติกรรมเพื่อการออกแบบและวางแผน, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,
2545), 155.

ที่มา : วารสารวิชาการศิลปะและการออกแบบ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ฉบับที่ 2 / 2550

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น