หนุ่มจีนฉุนบ้านราคาแพง ชวนเพื่อนสร้างบ้านเอง ลดภาระให้พ่อแม่


เมื่อ Dai Haifei อาตี๋วัย 24 ปี จากประเทศจีนลงมือสร้าง ‘บ้านไข่’ หลังน้อยขึ้นมาเองโดยใช้เงินเพียง 6,427 หยวน เพราะด้วยความเป็นห่วงพ่อ-แม่ที่อายุมากแล้ว แต่ยังต้องทำงานหนักและต้องประหยัดอดออม เพื่อที่จะนำเงินที่ได้้ไปให้ลูกซื้อบ้านเมื่อได้แต่งงาน ซึ่งเขารู้ดีว่าเงินที่พ่อแม่พยายามเก็บให้คงไม่พอที่จะซื้อบ้านในกรุงปักกิ่งอย่างแน่นอน
เขามีความต้องการที่จะมีบ้านเป็นของตัวเองและไม่จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่มาก เพียงแค่ได้หลบแดดหลบฝนก็พอ ไม่ต้องการที่จะอยู่ไกลจากตัวเมืองมากนัก ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการเช่าหรือซื้อที่ และไม่ต้องเบียดเสียดบนรถเมล์เพื่อเดินทาง แต่ในกรุงปักกิ่งซึ่งค่าครองชีพและค่าที่แพงนั้น เรียกได้ว่าเขาแทบจะไม่มีหวังเอาซะเลย บังเอิญที่ได้มีโอกาสร่วมออกแบบโครงการ “egg of the city” เมื่อตอนไปฝึกงานที่ Standard Architecture ซึ่งเป็นโครงการที่มีหัวข้อเกี่ยวกับบ้านขนาดเล็กที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ สำหรับกลุ่มคนเมืองที่ต้องดิ้นรน โดยบ้านจะต้องมีอุปกรณ์ที่ให้คนสามารถอยู่ได้ และด้วยความที่ยังมีความฝันที่จะสร้างบ้านอยู่ในใจ เขาได้ปรึกษากับอาจารย์หลังเรียนจบ ซึ่งอาจารย์เองก็สนับสนุนและแนะนำเพื่อนที่จะมาช่วยงาน และสร้างเสร็จภายในสองเดือนเท่านั้น
ซึ่งวัสดุและราคา (หยวน) มีดังต่อไปนี้ : ล้อ 160 / เชือก 125 / เครื่องบด 31 / แท้งค์น้ำ, ปั๊ม 95 / เหล็ก 573 / สว่าน 18 / ไม้ไผ่ 375 / อุปกรณ์เครื่องมือ 210 กาว 200 / ผ้าใบกันน้ำ 508 / แผงพลังงานแสงอาทิตย์ 970 / แท่งไม้ 30 / สกรู 115 / สี 284 / เครื่องเชื่อมโลหะ 260 สเปรย์ปืน 450 / ตาข่าย 600 / ฉนวนกันความร้อน 100 / เมล็ดหญ้า 110 / หลอดไฟประหยัดพลังงาน 36 / พัดลม 50 /  กระจกทนความร้อน 160 / อ่างล้างหน้า 60 / เหล็กตาข่าย 240 รวม 6,427 หยวน              
ภายในบ้านรูปทรงไข่ของเขามีทั้ง เตียงนอน อ่างล้างหน้า โต๊ะวางคอมพิวเตอร์ ปลั๊กไฟ และอื่นๆ โดยผนังทำจากไม้ไผ่สาน จุดเด่นอีกอย่างของมันอยู่ที่ การใช้ถุงที่มีไว้สำหรับปลูกต้นไม้-หญ้า หรือ green plant มาทำเป็นพื้นผิวของบ้านทรงไข่หลังนี้ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นความสัมพันธ์ในเชิง urban landscape นอกจากนี้มันยังผลิตไฟด้วยตัวเองจากแผงโซลาร์เซลที่มีอยู่ด้วย ซึ่งทุกขั้นตอนล้วนทำเองด้วยมือทั้งสิ้น
                 หลังจากเสร็จแล้วได้มีการเคลื่อนย้ายจากหูหนานไปปักกิ่ง เสียค่าขนส่ง 3,500 หยวน ซึ่งรวมแล้วก็ยังเป็นบ้านที่ราคาต่ำกว่าหนึ่งหมื่นในกรุงปักกิ่ง นอกจากนั้นบ้านหลังนี้ยังตั้งอยู่ใต้บริษัทที่เขาทำงาน โดยเขาไม่ต้องเสียค่าเช่าที่ดิน ไม่ได้เสียค่าเดินทาง เมื่ออาบน้ำก็ไปใช้บริการสระว่ายน้ำของโรงยิมที่สมัครแบบรายปีไว้ ซึ่งมีห้องอาบน้ำแถมยังมีห้องซาวน่าอีกด้วย ส่วนเรื่องอาหารก็ใช้บริการร้านค้าที่อยู่ระแวกนั้น นอกจากนี้ถ้าจะไปไหนเขาก็แค่ขี่จักรยานไป
เหนือสิ่งอื่นใดหลังจากสร้างเสร็จอยู่ได้จริง บ้านหลังนี้ยังได้ถูกเสนอชื่อเข้าเป็นผลงาน Second Annual China Architecture Media Awards อีกด้วย เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของเขาและเพื่อนๆ
อ้างอิง: CHINA HUSH / flickr

‘Straatlokaal’ จากถังขยะใบใหญ่สู่แหล่งแฮงก์เอ้าท์แห่งใหม่ของชุมชน


เห็นคนเอาถังขยะในบ้านมารีไซเคิลก็มาก แต่ก็ยังไม่เคยเห็นใครเอาถังขยะใบใหญ่แบบของเทศบาลมาทำอะไรอย่างอื่นเหมือนที่ Rikkert Paauw และ Jet van Zwieten ทำ
เมื่อคิดว่าจะทำแหล่งแฮงก์เอ้าท์แห่งใหม่ที่นอกจากจะมีรูปร่างหน้าตาไม่เหมือนใครแล้วยังสร้างปฏิสัมพันธ์ในชุมชนมากขึ้น สองดีไซเนอร์แห่ง Foundation Projects จึงจัดการเอาถังขยะใบใหญ่สามใบมาวางแปะอยู่กลางจัตุรัสเมือง Utrecht ประเทศเนเธอร์แลนด์ จากนั้นก็นำเอาเศษวัสดุที่พบแถวนั้นบวกกับสิ่งของที่คนบริจาคให้มาต่อเติมให้กลายเป็นกลุ่มบาร์และคาเฟ่สุดเก๋ แถมยังมีโปรเจ็กเตอร์โชว์สิ่งที่เรียกว่า videomapping บอกเล่าความเป็นมาของสิ่งของแต่ละอย่างด้วยว่าได้มาอย่างไร
โปรเจ็กต์ Straatlokaal หรือที่แปลได้ว่า local room นี้ได้เคยไปโชว์ที่งานใหญ่อย่าง Vienna Design Week และ Milan’s Public Design Festival มาแล้ว แต่ด้วยอยากให้คนในบ้านเกิดตัวเองได้มีส่วนร่วมด้วย ดีไซเนอร์ทั้งสองคนจึงได้ทำโปรเจ็กต์นี้อีกครั้ง ซึ่งผลตอบรับก็นับว่าดีเกินคาด เพราะชาวเมือง Utrecht ต่างก็หาของเก่าและของรีไซเคิลมาช่วยสมทบเหลือเฟือ และทุกคนก็ต่างภูมิใจที่ตัวเองได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ แถม Straalokaal แห่งนี้ยังได้รับเกียรติให้เป็นที่จัดแสดงงานต่างๆ ของเมืองด้วย
นี่ล่ะมั้ง ศูนย์กลางชุมชนที่แท้จริง ทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ และทุกคนก็มีความรู้สึกหวงแหน