Notes on Teaching Design

Notes on Teaching Design--------------------------------------------------------------------------------------------------------------

W.H.Raymond Yeh, F.A.I.A., Professor and Dean

School of Architecture, University of Hawaii, Honolulu, Hawaii, U.S.A. 96822

แปลและเรียบเรียง โดย ชำนาญ บุญญาพุทธิพงศ์



สตูดิโอสำหรับการเรียนรู้ในการออกแบบอาคารเกิดขึ้นที่กรุงปารีสใน Ecole des Beaux Arts เมื่อประมาณกลางทตวรรษ 1800’s ซึ่งเป็นช่วงที่การศึกษาสถาปัตยกรรมเริ่มเป็นรูปร่างครั้งแรก ก่อนหน้านี้สถาปนิกเรียนรู้จากระบบการฝึกฝนจากสถาปนิกที่มีประสบการณ์ นับจากนั้นมาระบบการสอนแบบสตูดิโอจึงได้แพร่กระจายไปทั่วโลกในกระบวนการเรียนการสอนสถาปัตยกรรม โดยทั่วไปสตูดิโอเป็นส่วนประกอบสำคัญในหลักสูตรสถาปัตยกรรมหลัก นักศึกษาสถาปัตยกรรมใช้เวลามากกว่าครึ่งของการเรียนไปกับกิจกรรมหรืองานอันเกิดจากวิชาสตูดิโอ การเรียนรู้ในสตูดิโอเป็นส่วนที่สำคัญอย่างมากในกระบวนการศึกษาของพวกเขาก่อนที่จะก้าวออกไปเป็นสถาปนิกต่อไป

การเรียนรู้จากสตูดิโอมีข้อได้เปรียบหลายประการเมื่อเทียบกับการเรียนในชั้นเรียนธรรมดา เป็นหยิบยื่นให้และการเปิดกว้างเพื่อให้นักศึกษามีอิสระในการค้นหาและอธิบายข้อจำกัดของงานของพวกเขา ทั้งนี้สตูดิโอต้องการการเชื่อมประสานของความคิดกับการประยุกต์ใช้ความรู้ต่างๆ เข้าด้วยกัน วิธีการเรียนรู้และกระบวนการสอนแบบนี้ถ่ายทอดต่อกันมาโดยมีการเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก

เมื่อโลกมีการเปลี่ยนแปลง การทำงานมีการเปลี่ยนแปลงและการออกแบบอาคารมีความซับซ้อนกว่าเดิมอย่างมาก เจ้าของอาคารต้องการให้สถาปนิกสนองต่อความจำเป็นของพวกเขามากกว่าแต่ก่อน ความสัมพันธ์ของอาคารกับบริบทมีความยุ่งยากมากขึ้นทั้งในแง่ของที่ตั้ง กายภาพ สังคมและสิ่งแวดล้อม บทบาทของอาชีพสถาปนิกมีความแตกต่างจากแต่ก่อนอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามการสอนระบบสตูดิโอโดยภาพรวมแล้วยังไม่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของโลกแห่งการทำงานนักไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ เนื้อหาและกระบวนการสอน

การจัดทำ Workshop เป็นแนวทางหนึ่งที่จะสร้างโอกาสในการตรวจสอบการสอนสตูดิโอและแลกเปลี่ยนแนวความคิดใหม่ๆ เพื่อเป็นแนวทางในการสอนให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงต่อไป



What should we teach?

การสอนการออกแบบทางสถาปัตยกรรมเป็นสิ่งที่ยากมากและยังไม่มีตำราทางวิชาการใดๆ ที่สามารถใช้เป็นแนวทางได้อย่างเป็นสากล เหตุผลเพราะแก่นของการออกแบบทางสถาปัตยกรรมเป็นความพยายามทางการรังสรรค์ (Creative Endeavor) ซึ่งต้องใช้ความคิดฝันและความเป็นส่วนตัวที่สูงมาก เป็นการประมวลผลของกระบวนการผสานภายใต้จิตที่ไม่อาจจะมองเห็นได้ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ยากที่จะเข้าใจหรืออธิบายออกมาเป็นถ้อยคำได้

ตามแนวทางแห่งการสอนการออกแบบที่ผ่านมามุ่งเน้นให้รู้จักการจัดการรูปทรง ที่ว่าง สี องค์ประกอบและระเบียบแบบแผน ภายใต้ข้อแม้ของประโยชน์ใช้สอยและเทคโนโลยีของอาคารบนที่ตั้งเฉพาะ จุดที่ถูกเน้นอย่างมากคือการตัดสินทางความงาม (Aesthetics Judgment) ด้วยวิธีแห่งการนึกคิด โดยมีกฎเกณฑ์เฉพาะเป็นตัวช่วย นักศึกษาเรียนรู้โดยการลงมือทำพร้อมกับแนวทางปฏิบัติคร่าวๆ เพื่อนำไปสู่ผลิตผลที่เกิดจากการเรียนรู้ผ่านกระบวนการวิจารณ์ นี้เป็นการผลิตตามกระบวนการที่เกิดขึ้นในสำนักงานสถาปนิกอาชีพที่ผู้สอนส่วนใหญ่แล้วได้ฝึกฝนหรือมีประสบการณ์มา นอกจากนี้โดยธรรมชาติแห่งการแข่งขันในสตูดิโอเป็นเรื่องปกติที่จะละเลยความจำเป็นที่จะต้องเน้นที่การเรียนรู้แทนที่จะเป็นผลผลิตสุดท้ายเป็นหลัก การเรียนรู้จากพัฒนาการในการออกแบบและคำแนะนำที่มีคุณค่าจะถูกนำไปใช้ในการทำงานจริงในอนาคตต่อไป

มีหลากหลายนิยามของการออกแบบ คำนิยามที่น่าจะเป็นประโยชน์มากที่สุดสำหรับการสอนอันหนึ่งมาจาก Asimow ผู้ซึ่งหนังสือของเขา “Introduction to Design” ให้คำนิยามของการออกแบบเป็นแนวทางเพื่อคุณค่าอันสูงส่งและความเสี่ยงอันมากมายของผลิตผล มีแนวทางขนานแห่งการประยุกต์ใช้สำหรับการออกแบบทางสถาปัตยกรรม “… การออกแบบเป็นการรับรองกระบวนการแห่งการแก้ปัญหาเพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์อันเกิดจากความเชื่ออันแฝงไว้ด้วยความไม่แน่นอน มีความเสี่ยงต่อความผิดพลาดสูง

Asimow นิยามการออกแบบเป็นการกระทำมากกว่าที่จะเป็นคำนาม และหมายความถึง กระบวนการแห่งการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์แทนที่จะมุ่งเน้นที่ผลสุดท้ายแต่เพียงอย่างเดียว ทั้งยังหมายถึงความเข้าใจการออกแบบที่มีคุณค่าและการออกแบบที่ดี รวมไปถึงความรับผิดชอบของผู้ออกแบบผ่านกระบวนการผลิตไปสู่ผลสุดท้าย การออกแบบอาคารในปัจจุบันมีการเอาจริงเอาจังสูงในการที่จะคำนึงสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องนอกเหนือไปจากตัวโครงการเองมาผสานเข้าไปด้วยวิถีแห่งการสร้างสรรค์พาไป

ในการเรียนรู้การออกแบบนักศึกษาไม่ควรที่จะรับรู้เพียงคำสอนอันล่องลอยเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมและการผสมผสานของเทคโนโลยีสู่งานออกแบบเท่านั้น นักศึกษาควรจะต้องเรียนรู้ในเรื่อง

ความคิดแบบฉับพลัน (Critical Thinking)

กระบวนการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ (Creative Problem Solving Process)

ความรับผิดชอบต่ออาชีพ (Professional Responsibilities)

การเรียนรู้ชั่วชีวิต (Life-Long Learning)



A. Critical Thinking and Creative Problem Solving
พัฒนาการของการคิดแบบฉับพลันเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการออกแบบอันเป็นกระบวนทางจิต ความสามารถในการตั้งคำถามและการเข้าถึงหัวข้อแห่งการออกแบบอันนำไปสู่การประมวลปัญหาจำเป็นต้องใช้ความคิดที่โปร่งใสและรวดเร็ว การตัดสินใจแบบฉับพลันจะช่วยหลบเลี่ยงการซ้อนทับของกระบวนการหรือการลอกเลียนงานออกแบบที่มีอยู่แล้วโดยปราศจากความเข้าใจที่แท้จริง

ในปัญหาในการออกแบบใดๆ ก็ตาม นักออกแบบควรจะผ่านกระบวนการหลักแห่งการแก้ปัญหาซึ่งประกอบด้วย 7 ขั้นตอนพื้นฐาน โดยแต่ละขั้นตอนมีวิธีการอีกมากมาย ขั้นตอนดังกล่าวได้แก่

1.การวางวัตถุประสงค์ (Stating Objectives)

2. การกำหนดปัญหา (Defining Problem)

3. การหาแหล่งอ้างอิง (Establishing Reference Base)

4. การสร้างทางเลือก (Formulation of Alternatives)

5. การประเมิน (Evaluation)

6. การเลือกแนวทางแก้ไข (Selection of Solution)

7. การพัฒนาและการเสนอโครงร่าง (Development and Presentation of Proposal)

ขั้นตอนเหล่านี้ไม่สามารถรับประกันว่าผลงานที่ออกมาจะเป็นผลงานที่สร้างสรรค์ที่สุดแต่ขั้นเหล่านี้จะก่อใก้เกิดผลของการออกแบบที่สอดคล้องสัมพันธ์กับปัญหาเบื้องต้นที่มี มีหลากหลายวิธีและกระบวนการสำหรับแต่ละขั้นตอนซึ่งสามารถใช้ในแต่ละการออกแบบแต่ละชิ้นขึ้นอยู่กับความยากง่ายและซับซ้อนของแต่ละปัญหา เหล่านี้เป็นขั้นตอนแห่งการแก้ปัญหาซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายโดยจุดมุ่งหมายที่แตกต่างรวมไปถึงในทางวิศวกรรมทางการทหารเพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบที่รวดเร็วภายใต้การจัดการเวลาที่ดี

นักศึกษาควรจะมีความหลากหลายในกระบวนการแก้ปัญหาพื้นฐานอันจะส่งผลต่อความมั่นใจในการทำงานของพวกเขาต่อไป



B. Environmental and Community Issues

สถาปัตยกรรมส่งผลกระทบต่อคุณภาพของสิ่งแวดล้อมทั้งในปัจจุบันและอนาคต การทำความเข้าใจกับผลกระทบในมุมกว้างของอาคารที่เราออกแบบต่อสภาพแวดล้อมที่เราอาศัยอยู่เป็นพื้นฐานของความรับผิดชอบที่ต้องมี

สถาปัตยกรรมเป็นการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์เพื่อความต้องการทางกายภาพของเจ้าของอาคาร ผู้ใช้อาคารและประชาชนทั่วไปที่มีส่วนเกี่ยวข้อง พื้นฐานเหล่านี้แยกสถาปัตยกรรมออกจากศิลปะในรูปแบบอื่นและมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจกระบวนการแห่งการออกแบบสถาปัตยกรรม ความรับผิดชอบต่องานออกแบบสถาปัตยกรรมเป็นเรื่องของบุคคล ชุมชน และสังคมในวงกว้างออกไป สถาปัตยกรรมเป็นรูปแบบของศิลปะเพื่อสังคมที่ส่งผลกระทบโยตรงต่อผู้คน การให้ผลแห่งการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมจำเป็นต้องมีความเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์และคุณค่าแห่งสังคมประกอบกันไป

เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม้ได้สำหรับนักศึกษาสถาปัตยกรรมที่จะต้องเรียนรู้ที่จะคำนึงและรับผิดชอบต่อสังคมในทุกๆ การรังสรรค์งานออกแบบ

C. Building Knowledge and Application

นักศึกษาสถาปัตยกรรมจะต้องมีความกระตือรื้อล้นที่จะเพิ่มเติมความรู้พื้นฐานของการทำงานอันจะนำไปสู่กระบวนการออกแบบ ความรู้เหล่านี้รวมไปถึงวัสดุสำหรับการก่อสร้าง ระบบผนัง โครงสร้าง เครื่องกล และระบบไฟฟ้าในอาคาร

นักศึกษาจะต้องเรียนรู้การผสมผสานบูรณาการองค์ประกอบของระบบต่างๆ ในอาคารที่จำเป็นเพื่อไปสู่การออกแบบที่ดี

D. Technical and Profesional Skills

ในการฝึกการทำงานในอาชีพสถาปนิกนักศึกษาจะต้องเรียนรู้การสื่อแนวความคิดในการออกแบบออกไปโดยผ่านการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและความสามารถในการอธิบายแบบผ่านการพูด การเขียน การวาด การทำหุ่นจำลองด้วยมือหรือด้วยคอมพิวเตอร์

พัฒนาการทางความสามารถของนักศึกษาควรจะเป็นหนึ่งที่อยู่ในกระบวนการสอนสตูดิโอ

E. Understand Continuity in Design

การออกแบบทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานของกระบวนการที่มีมาแต่อดีต โดยการออกแบบหาใช่กระบวนการประดิษฐ์ที่แยกตัวออกไปอย่างโดดเดี่ยวไม่ การเรียนเพื่อให้เห็นและการเรียนรู้จากสิ่งที่เห็นเป็นพื้นฐานของการการเรียนรู้แห่งการออกแบบทุกแขนง ประสบการณ์ส่วนตัวและพื้นฐานทางวัฒนธรรมย่อมส่งผลต่อการออกแบบของแต่ละคน ยกตัวอย่างเช่น อาคารของ Louis Kahn มีส่วนอิทธิพลของโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่เขาคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็กๆ เป็นต้น

การคำนึงถึงพื้นฐานทั้งที่แฝงอยู่อย่างไม่รู้ตัวหรือรู้ตัวของแต่ละคนเป็นสิ่งสำคัญต่อการสร้างความสัมพันธ์ต่อการสร้างสรรค์ของแต่ละคนและช่วยสร้างจิตใต้สำนึกแห่งการเป็นนักออกแบบ การเรียนรู้สภาพแวดล้อมที่มองเห็นได้และความสัมพันธ์ต่างๆ เป็นขั้นตอนแรกๆ ในการฝึกฝนนักออกแบบ การออกแบบไม่สามารถเรียนรู้จากหนังสือหากแต่มาจากการเห็นและประสบการณ์ตรงกับผลิตภัณฑ์นั้นๆ การเห็นอาคารต่างๆ และการเข้าไปสัมผัสผลกระทบต่อผู้คนควรจะผสานเข้ากับกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวพันกับการออกแบบ

การสร้างให้นักศึกษามีความกระตือรือร้นและต้องการที่จะเรียนรู้ควรจะเป็นเป้าหมายของผู้สอนการออกแบบทุกคน

F. The Creative and Innovative Role of an Architect

ท้ายที่สุดการออกแบบทางสถาปัตยกรรมต้องเป็นหนึ่งเดียวกับความต้องการแห่งการสร้างสรรค์นอกเหนือไปจากความคำนึงแห่งการแก้ปัญหาของโครงการ ความปรารถนาที่จะสรรค์สร้างรูปทรงใหม่ๆ การใช้วัสดุและกระบวนการหรือการวางแนวความคิดในการออกแบบที่ก้าวหน้าเป็นคำตอบของนักออกแบบสถาปัตยกรรมที่ดี เป็นการเสี่ยงที่จะสร้างงานโดยไม่อยู่บนพื้นฐานของความต้องการแต่ขึ้นอยู่กับความแตกต่างระหว่างการเหนือกฏเกณฑ์และตามกฏเกณฑ์ ความรับผิดชอบต่องานสถาปัตยกรรมแต่ละชิ้นอยู่ที่นักออกแบบแต่ละท่าน นี้ละที่ทำให้การออกแบบสถาปัตยกรรมเป็นสิ่งที่ท้าทายและมีความสนุกในตัวเอง

การสอนสตูดิโอออกแบบต้องพร่ำสอนให้นักศึกษามีความปรารถนาที่จะทดลองและคงไว้ซึ่งความสร้างสรรค์แห่งการออกแบบ

การรวมองค์ประกอบอันซับซ้อนเหล่านี้ไว้ในการศึกษาสถาปัตยกรรมจำเป็นมีหลักสูตรที่กว้างพอซึ่งต้องมีการวางแผนที่ดี มีการเรียงลำดับขั้นตอน และมีการประสานอย่างระมัดระวัง หลักสูตรการออกแบบที่มีประสิทธิภาพจะต้องสามารถค่อนๆ พัฒนาและมีความต่อเนื่องของการสนองต่อความต้องการของนักศึกษาและเปิดโลกของนักศึกษาออกสู่โลกกว้าง การสร้างพื้นฐานแห่งการสร้างสรรค์ที่มีในสตูดิโอควรจะมีในการเรียนอื่นๆ ด้วย โปรแกรมการเรียนควรจะมีความเนื่องในการแสวงหาการทดลองและการเชื่อมถ่ายกับทฤษฎีใหม่ๆในการเรียนรู้และวิธีการสอน ยกตัวอย่างเช่น การสอนการออกแบบสามารถที่ใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เนตมาช่วยในการเรียนรู้ของนักศึกษาอย่างไร

จุดอ่อนของพัฒนาการของหลักสูตรสถาปัตยกรรมคือการรวบรวมการตัดสินของผู้สอนซึ่งมีความแตกต่างทางความคิดอันเนื่องมากประสบการณ์ในการทำงานทางการออกแบสถาปัตยกรรมที่แตกต่างกันการเรียนสถาปัตยกรรมเป็นการเรียนรู้ที่ต้องพึ่งพากรณีศึกษาที่มีในอดีตและปัจจุบันเป็นส่วนใหญ่บางครั้งก็จะขาดมุมมองในอนาคตไป ปัญหาที่ดูเหมือนว่าจะเลวร้ายกว่านั้นคือสถาปัตยกรรมเป็นสาขาวิชาชีพที่มีการค้นคว้าวิจัยอย่างจริงจังน้อยมาก ทำให้การค้นหาความรู้ใหม่ๆ มาเพิ่มเติมในกระบวนการออกแบบหรือการเรียนสตูดิโอมีน้อย



How we teach?

ในการสอนสตูดิโอในปัจจุบันผู้สอนแต่ละท่านควรจะมีความอิสระในการกำหนดกระบวนการในการสอนเอง แต่ละสถาบันต่างก็มีแนวทางและปรัชญาในการสอนที่แตกต่างออกไปซึ่งย่อมส่งผลต่อการสอนสตูดิโอ สตูดิโอโดยทั่วไปมีลักษณะที่พัฒนามาจากการสอนของ Ecole des Beaux Arts อันเป็นการกระบวนการสอนที่มุ่งเป้าไปที่ผลิตผลที่เกิดจากการปฏิบัติและการแข่งขัน และควบคุมโดยผู้วิจารณ์ (Studio Critic) ซึ่งได้รับมอบหมายมา

กระบวนการสอนมีพื้นฐานมาจากการวิจารณ์งานของนักศึกษาอาจจะเป็นกลุ่มหรือเดี่ยวก็ได้ ผู้สอนสตูดิโอซึ่งน่าจะมาจากผู้ปฏิบัติหรือสถาปนิกมากกว่าที่จะมาจากสายการสอนจึงมีเทคนิคการสอนที่ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ในการสอนของตนเองนั่นเอง วัตถุประสงค์ของหลักสูตรหรือหน้าที่หลักในการสอนมักจะถูกปล่อยปะละเลยอยู่บ่อยครั้งทำให้การสร้างหลักสูตรให้มีประสิทธิโดยรวมเป็นสิ่งที่ยาก

แม้ว่ากระบวนการสอนสตูดิโอที่มีรากฐานมาจาก Ecole des Beaux ยังคงเป็นแนวทางที่ถูกใช้กันแต่ความหลากหลายในรูปแบบมีอย่างมากขึ้นอยู่กับแนวงานสถาปัตยกรรมที่ได้รับความนิยมอยู่ในแต่ละยุคสมัย การออกแบบเป็นสิ่งที่ยากที่จะอธิบายเป็นรูปธรรม เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาโดยจิตสำนึกที่อาจจะคำนึงถึง ผลกระทบของสังคม ความจำเป็นแห่งประโยชน์ใช้สอย และหลายๆครั้งที่ขาดพื้นแห่งเหตุและผล บ่อยครั้งที่ผู้สอนออกแบบลืมที่จะเน้นความสัมพันธ์ของการออกแบบกับประเด็นทางสังคมในวงกว้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่นักศึกษาจำเป็นจะต้องสำนึกตลอดเวลา

การทำงานในสตูดิโอตามประเพณีแล้วนักศึกษาจะต้องใช้เวลามากมายและมีความแข็งแรงทางร้างกายพอที่จะอดหลับอดนอนได้หลายๆ วัน นักศึกษาสถาปัตยกรรมมักจะถูกรับรู้ว่าเป็นกลุ่มนักศึกษาที่ใช้เวลากลางคืนทำงานในสตูดิโอ สภาพแวดล้อมแห่งการแข่งขันกระตุ้นให้นักศึกษาทำงานของตัวเองและหลีกเลี่ยงการร่วมมือกับผู้อื่นเพื่อเป็นการป้องกันความเฉพาะทางแนวความคิดในการออกแบบของตนเอง

นักศึกษามักจะคิดว่าการประสบความสำเร็จในการเรียนและการทำงานมาจากการที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงในการเรียนสตูดิโอ อิสระในการค้นหาและสร้างสรรค์บางครั้งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากภาวะแห่งการกดดันให้ทำตามคำแนะนำและการทำงานเพื่อการได้เกรดดีๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่เป็นลักษณะเฉพาะที่พบเห็นในการเรียนสตูดิโอออกแบบทั่วโลก และมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมากแม้จะผ่านกาลเวลามายาวนาน

อย่างไรก็ตามมีอีกหลายๆ แนวทางในการสอนสตูดิโอ ซึ่งต้องการที่จะสร้างประสิทธิภาพในพื้นฐานความสามรถในการออกแบบให้แก่นักศึกษา เมื่อความต้องการของนักศึกษา สถาปัตยกรรมเปลี่ยนไปกระบวนการสอนนี้จะควรต้องมีการปรับปรุง ทั้งนี้รวมไปถึงข้อหัวต่างๆ ดังนี้

สตูดิโอควรจะเป็นที่สำหรับการแสวงหาทางความคิดโดยปราศจากความกลัวอำนาจอื่นใด

เป็นสิ่งจำเป็นที่สตูดิโอต้องเป็นสถานแห่งการทดลองอันเปิดกว้างและเป็นที่ทดสอบความคิด สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อนักศึกษามีการพัฒนาจิตแห่งความอยากรู้และเกิดการตั้งคำถามต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในการออกแบบทั้งหลาย และนำไปสู่การสรุปการตัดสินได้ด้วยตนเอง เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพผู้สอนควรจะวางตัวเป็นเสมือนผู้ร่วมงานและผู้แสวงหาทางความคิดไปพร้อมกัน แทนที่จะเป็นผู้ตัดสินหรือผู้กุมอำนาจซึ่งนักศึกษาต้องเอาใจ เป้าหมายของสตูดิโอควรจะช่วยให้นักศึกษาพัฒนาความคิดเฉพาะตัวที่แน่นอนเพื่อการตัดสินใจในการกระทำด้วยตัวเอง นั่นเป็นสิ่งที่ท้าทายที่ยากที่สุดสำหรับการสอนสตูดิโอ และนี่ก็คือการเรียนรู้ที่สำคัญที่สุดสำหรับนักศึกษาสถาปัตยกรรม

การทำงานอย่างหนักในสตูดิโอไม่ควรจะก่อให้เกิดความสับสนในกระบวนการรับความรู้ใหม่ๆ

การทำงานหลายๆ ชั่วโมงและทั้งคืนของนักศึกษากับงานออกแบบโครงการเป็นเรื่องปกติสำหรับนักศึกษาสถาปัตยกรรม กิจวัตรดังกล่าวนี้เป็นสิ่งที่ดีในการพัฒนาการทำงานและพัฒนาความสามารถทางเทคนิคแต่มักจะไม่สมดุลกับการรับความรู้ใหม่ๆ เข้ามา ผู้สอนการออกแบบควรจะช่วยให้นักศึกษาพัฒนาการจัดการโครงการและการกำหนดระยะเวลาการทำงานอย่างมีเหตุผลและเห็นคุณค่าของเวลาเป็นสำคัญ ขณะเดียวกันคุณค่าของสตูดิโอส่วนหนึ่งอยู่ที่การเรียนรู้โดยการกระทำ (Learn by Doing) สะสมประสบการณ์ การสอนสตูดิโอควรจะใช้วิธีการสอนอันหลากหลายเพื่อเปิดให้นักศึกษามีความกระหายที่จะดูดซับความรู้ที่จำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อการออกแบบต่อไป

การออกแบบโดยปราศจากความเข้าใจอย่างเด่นชัดเกี่ยวกับความรับผิดชอบของนักออกแบบที่มีต่อความสัมพันธ์อันซับซ้อนของงานอาชีพจะไม่เตรียมนักศึกษาเข้าสู่อาชีพที่ต้องการภาวะผู้นำสูงได้เลย

นักศึกษาเรียนรู้การออกแบบในสตูดิโอซึ่งยังคงเป็นนามธรรมแห่งความสัมพันธ์กับโลกจริงๆ การออกแบบสถาปัตยกรรมต้องรับผิดชอบต่อประเด็นต่างๆ ที่มาเกี่ยวพันกับตัวสถาปัตยกรรมตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับโลก สตูดิโอออกแบบจะทำเป็นกุญแจที่ดีสำหรับการเปิดมุมมองของนักศึกษาไปสู่งานในโครงการจริงซึ่งมีผู้คนเข้ามาใช้งาน โดยการทดลองทำงานที่มีที่ตั้งจริงและอ้างอิงกรณีศึกษาจริงๆ มาประกอบในกระบวนการถ่ายทอดของผู้สอน

นักศึกษาจำเป็นต้องพัฒนาการสื่อสารที่ดี การร่วมมือในการทำงานและความสามรถในการเป็นผู้นำ

การออกแบบงานสถาปัตยกรรมที่มีประสิทธิภาพไม่สามารถที่จะแยกตัวออกจากความเป็นงานสร้างสรรค์ได้ทั้งนี้ควรจะเกิดจากการร่วมมือในการทำงานกับคนอื่น เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องรับรู้ว่าสถาปนิกถูกวางให้สวมบทบาทของผู้นำในกระบวนการออกแบบ นักศึกษาที่จะก้าวไปสู่อาชีพนี้จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการเรียนรู้การสื่อสารที่ดีและการจัดวางระบบในการทำงานที่ดี ทั้งนี้สามารถเริ่มต้นได้จากประสบการณ์ในการทำโครงการในสตูดิโอ การมีงานโครงการแบบกลุ่มเป็นการสร้างโอกาสให้นักศึกษาเรียนรู้การร่วมมือกับคนอื่นซึ่งจะเป็นประสบการณ์ที่ดีสำหรับการทำงานในอนาคต

สตูดิโอควรจะเตรียมนักศึกษาสำหรับการทำงานในสายอาชีพในอนาคต

สตูดิโอออกแบบควรจะวางเป้าหมายที่จะสอนให้นักศึกษาพร้อมสำหรับอนาคตการทำงานด้วยการฝึกฝนความเชี่ยวชาญเบื้องต้นที่จำเป็นต่อการทำงานอาชีพ มีคำวิจารณ์จากสำนักงานออกแบบมากมายบอกว่าผู้ที่จบการศึกษาสถาปัตยกรรมออกไม่ได้ถูกฝึกเพียงพอสำหรับการทำงานในสำนักงาน แม้ว่าคำวิจารณ์นี้ควรจะนำเข้ามาพิจารณาในกระบวนการเรียนการสอน แต่ในความเป็นจริงแล้วกระบวนการเรียนทำได้แค่เพียงการเตรียมบัณฑิตเพื่อเข้าไปเป็นผู้ช่วยอันจะถูกฝึกฝนสู่อาชีพสถาปนิกต่อไป นักศึกษาควรจะมุ่งเน้นในการพัฒนาการคิดและเก็บเกี่ยวเอาสิ่งที่มีประโยชน์สำหรับชีวิต ไม่ใช่จะคำนึงเฉพาะความเชี่ยวชาญที่สามารถนำไปประกอบอาชีพได้เท่านั้น

ในบทสรุป ประการแรกการสอนสตูดิโอควรจะยึดติดกับหลักการที่ว่า ทำสิ่งที่ไม่เป็นการทำร้าย (Do No Harm) การเรียนรู้ในสตูดิโอควรจะมองไปข้างหน้าและสนับสนุนให้นักศึกษาเปิดความคิดแสวงหาความใหม่นอกเหนือจากปัจจุบัน สตูดิโอควรจะเป็นเสมือนห้องปฏิบัติการทางการวิจัยที่ผู้วิจารณ์งานออกแบบและนักศึกษาสามารถร่วมมือกับผู้ทำงานจริงเพื่อพัฒนาความคิดและกระบวนการสำหรับการทำงานออกแบบงานจริงในอนาคต การร่วมมือนี้นำไปสู่บทบาทใหม่ของสตูดิโอนอกเหนือไปจากการสอนและการเรียนรู้เพียงอย่างเดียว
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ต้นฉบับภาษาอังกฤษของบทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ Workshop on “How to Teach Design Studio”, May 24-26, 2004, Faculty of Architecture, Chiang Mai University, Chiang Mai, Thailand 50200

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น