ผมอยากจะขอเริ่มบทความนี้ จากข้อสงสัยของตัวผมเองเมื่อหลายปีก่อน ตอนสมัยเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรชั้นปีที่ 3 "ทำอย่างไรที่จะทำให้งานออกแบบของผม มีความแตกต่างจากคนอื่นๆ" นั้นคือคำถามเริ่มแรกที่นำไปสู่ประเด็น ที่ผมทำการศึกษาค้นคว้า หาคำตอบต่อมาจนกระทั่งวันนี้ จากคำถามที่ว่า "ทำอย่างไร" ให้แตกต่าง มาสู่คำถามที่ว่า "ทำไม" ต้องแตกต่าง เป็นการย้อนถามตัวเองว่า ถ้าเกิดความแตกต่างแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ทำไมความแตกต่างจึงเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหา เป็นสิ่งที่คนหลายคนไคว้คว้า แรกเริ่มเดิมทีชนชาติตะวันตกเชื่อว่า พลังและอำนาจ แห่งการสร้างสรรค์ สิ่งต่างๆ มาจากพระเจ้า เป็นของขวัญที่พระเจ้ามอบให้มนุษย์ และที่สำคัญมนุษย์เชื่อว่า พลังนี้ ไม่ได้ดำรงอยู่ในตัวมนุษย์ ยุคนี้ถูกเรียกกันว่า ยุคที่พระเจ้าเป็นศูนย์กลาง (Centric World - God as the centre of Universe) ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นข้าวของ เครื่องใช้ เครื่องประดับ และแม้กระทั่งงานศิลปะต่างๆ ซึ่งรวมทั้งงานสถาปัตยกรรม จึงถูกใช้เพื่อเป็นสิ่งที่แสดงออกมาเพื่อขอบพระคุณต่อ ของประทานสิ่งนี้ ยกตัวอย่างเช่น ที่ว่างที่ส่งเสริมต่อการเกิดแรงศรัทธาต่อพระเจ้า ที่ว่างที่ศักดิ์สิทธิ์ (Sacred Space) การใช้สถาปัตยกรรมเป็นตัวกลางในการเชื่อมโลกมนุษย์ กับโลกสวรรค์ หรือทำให้มนุษย์รู้สึกตัวเองว่าเป็นเพียงแค่ เม็ดทรายท่ามกลาง ความงดงามของสวนสวรรค์ในงานสถาปัตยกรรมสมัย โกธิค (Gothic Architecture) อย่างไรก็ตาม แนวความคิดแบบนี้เริ่มเกิดการสั่นคลอน เมื่อมนุษย์ชาวอิตาลี ประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือใหม่สำหรับการ "มองโลก" ให้แก่เพื่อนมนุษย์ เครื่องมือสำหรับการมองโลกแบบใหม่นี้ ถูกนำไปใช้ในการวัดมิติของที่ว่างและมิติของเวลา สามารถแปลงมิติของที่ว่างลงบนแผ่นระนาบได้ นั้นคือรูปภาพแบบ Perspective นี่คือจุดที่หักเหที่ยิ่งใหญ่ต่อกระบวนความคิดของมนุษย์ เพราะ Perspective นอกจากใช้เป็นเครื่องมือที่ใช้มอง และวัดมิติทั้งสี่ของที่ว่างแล้ว ภาพ Perspective ยังเป็นภาพสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงการ "วางสายตามนุษย์ไว้ที่ตำแหน่งตรงศูนย์กลางของการมอง ศูนย์กลางของอำนาจแห่งการสร้างสรรค์ วางแทนที่พระเจ้า" จากพระเจ้าคือศูนย์กลาง คือทุกสิ่ง คือผู้ประทานอำนาจของการคิด การสร้างสรรค์ มาเป็นมนุษย์คือศูนย์กลาง คือผู้กำหนดความคิดของตัวเอง กำหนดจาก "ตา" ของตัวเอง ณ เวลานี้มนุษย์ "เห็น"โลกอย่างที่เขาต้องการเห็น "เข้าใจ"โลกอย่างที่เขาต้องการเข้าใจ "ทำ"โลกให้เป็นโลกอย่างที่เข้าต้องการให้เป็น และที่สำคัญที่สุด ให้โลกมันดำเนินไปอย่างเป็นปกติ ภายหลังที่มนุษย์กลายเป็นบุคคลที่ครอบครองทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอำนาจของการสร้างสรรค์ การเข้าใจโลก (จากสายตาของมนุษย์) และการควบคุมการเป็นไปของโลก ผมขออนุญาตนำเสนอแบบจำลองอันหนึ่ง ซึ่งเป็นแบบจำลองของโลก หรือเราอาจจะเข้าใจง่ายกว่า ถ้าใช้คำว่า "สังคมแบบปกติ" ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสังคมที่อยู่ภายใต้ข้อตกลงร่วมกัน อาจจะเป็น ขอบเขต กรอบ กฎเกณฑ์ ของผู้ที่กำหนด หรือผู้ที่มีอำนาจมากำหนด ดังนั้นการดำเนินไปของสิ่งต่างๆ ถ้าอยู่ภายใต้กรอบ ขอบเขต กฏเกณฑ์ นี้แล้วจะราบรื่นและเป็นไปอย่างเป็นปกติ (Normativity) ซึ่งรวมไปทั้ง การสร้างสรรค์ ด้วยกรอบ ขอบเขต และกฎเกณฑ์ ต่างๆ เหล่านี้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือ ที่ทำให้สังคมของมนุษย์ ดำเนินไปอย่างเป็นปกติ เช่น กฎหมาย ค่านิยมทางสังคม ความนิยมของสังคม โฉนดที่ดิน (หรือสมบัติของผู้ดี ความเป็นกุลสตรีไทย แม้กระทั่ง การไว้ผมยาวของศิลปิน หรือสัญลักษณ์ทางเครื่องแบบและหัวเข็มขัดของนักเรียนช่างกล ช่างศิลป์ ถ้าเรามองพวกเขาอยู่ใน โลกหรือสังคมของพวกเขาเอง ที่มีการกำหนดกรอบหรือ กฎเกณฑ์อะไรบางอย่าง ที่ต่างกับสังคมอื่นๆ) ความเป็นไปอย่างเป็นปกติ (Familiar Situation) นี้เองเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการหาคำตอบ ของความแตกต่าง เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากการที่คนแต่ละคนในสังคม ดำรงชีพร่วมกันอย่างปกติสุข หรือดำรงชีพอยู่ได้อย่างไม่มีความรู้สึกถึงข้อกำหนด และกฎเกณฑ์ต่างๆ ซึ่งที่จริงแล้ว กฎเกณฑ์ต่างๆ เหล่านี้อยู่ห้อมล้อม รอบตัว และรอบพื้นที่ว่างของคนแต่ละคน ในทุกอย่างก้าว เพียงแต่เราไม่รู้สึกถึงขอบเขตตรงนั้น ความเป็นไปอย่างเป็นปกตินี้เองจึงเป็นสิ่งที่นักออกแบบ นักคิด และนักปรัชญาหลายๆ ท่าน นำมาเป็นจุดเริ่มที่จะค้นหา "ทางออก" พยายามดิ้นรนให้หนีจาก "กรอบ" เพราะนอกจากจะทำให้คน รู้สึกถึงความมีตัวตนของเขาเอง อย่างที่ Descartes กล่าวว่า "I think therefore I am" เพราะเมื่อเขาคิดเขาจึงรู้สึกตัวตนที่เขามีอยู่ และทำให้คน และสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง เคลื่อนไหว เกิดพลัง ผมขออนุญาตข้ามคำถามที่ว่า การสร้างความแตกต่างนั้นดี หรือไม่ดี ในช่วงนี้ก่อน เพื่อนำไปสรุปช่วงท้าย อย่างไรก็ตาม คำถามที่น่านำมาวิเคราะห์ และสังเคราะห์ในชัดคือ ทำอย่างไรจึงจะสร้างให้เกิดความแตกต่าง และแตกต่างจากอะไร จุดที่สำคัญที่จะทำให้เกิดกระบวนการนี้อย่างสมบูรณ์ คือ การมองทั้งระบบ เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งบริบท ก่อนที่จะสามารถกำหนดทิศทาง และวิธีการ ที่จะทำให้เกิดความแตกต่างขึ้น ผมขอยกตัวอย่างจาก งานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (Modern Architecture) ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ในการอธิบายปรากฎการณ์ของความเป็นปกติ และการสร้างความแตกต่าง 3. สังคมสมัยใหม่ปกติ สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ถือกำเนิดขึ้นราว ศตวรรษที่ 19-20 เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทั้งในวิธีการคิดและการผลิตผลงาน อย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้น คือพิจารณาถึงบริบททั้งหมดของ Modernism (สมัยใหม่นิยม) เพราะนอกเหนือจากบริบททางสังคม การเมือง ซึ่งเป็นตัวสำคัญที่มีผลต่อรูปแบบของที่ว่างทางสถาปัตยกรรม บริบททางชีวิตความเป็นอยู่ วิทยาการ เทคโนโลยี ซึ่งรวมถึงการผลิตวัสดุ อุปกรณ์ต่างๆ ก็เป็นตัวแปรที่สำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงอันนี้ เราอาจจะมองเฉพาะรอยต่อของช่วงสมัย Art Nuvou, Neo Classic กับการเกิดขึ้นของ Modernism ซึ่งในที่นี้ผมขอเสนอภาพซึ่งเป็นสิ่งที่บันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ (Representational History) มาเป็นการดำเนินเรื่องราวของสิ่งที่เกิดขึ้น ณ ช่วงเวลานั้น 3.1 สงคราม เป็นจุดเริ่มแรกที่ผมอยากจะนำมาเป็นปัจจัยหลักของการเปลี่ยนแปลง เพราะนอกจากสงครามเป็นเครื่องมือสำหรับการทำลายล้างแล้ว สงครามยังเป็นจุดที่สำคัญต่อการเกิดขึ้นของสิ่งใหม่ๆ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของการบริโภคทรัพยากร และเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวลา ซึ่งต้องการความรวดเร็วทั้งการตั้งค่ายรบ ฐานทัพ หรือสภาพบ้านเรือนที่เสียหาย สำหรับผู้คนที่เป็นเหยื่อของสงคราม ความต้องการที่อยู่อาศัยอย่างรีบเร่ง เพื่อป้องกันความหนาวเย็น และสร้างความปลอดภัยต่อตนเอง และครอบครัว จึงเป็นสาเหตุอย่างหนึ่งซึ่งนำถึงความเปลี่ยนแปลงของสถาปัตยกรรมในยุคดังกล่าว 3.2 การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยี และระบบอุตสาหกรรม การส่งเสริมการผลิตในรูปแบบของ สายการผลิต และการผลิตแบบแยกส่วน การผลิตเหล่านี้ นอกจากจะตอบสนองต่อการสงครามและอุปกรณ์ที่ใช้ในการสงครามโดยตรงแล้ว ยังมีส่วนที่เข้าไปจำกัด และกำจัด ระบบบริโภคแบบอื่นๆ อีกด้วย เช่น ระบบการผลิตแบบเกษตรกรรม ระบบการผลิตในครัวเรือน และการผลิตในลักษณะ Handmade เพราะระบบการผลิตในแบบอุตสาหกรรม เป็นการผลิตสินค้าจำนวนมาก สามารถทำให้เกิดการได้เปรียบทางการค้า และนำไปสู่ระบบ Capitalism และระบบบริโภคนิยม ในที่สุด 3.3 การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรในเมือง การเดินทางเข้ามาหางานทำในเมืองใหญ่ เพราะเมืองใหญ่ นอกจากโอกาสในการที่จะทำเงิน มากกว่าในเมืองเล็กแล้ว เมืองใหญ่ยังถูกใช้เป็นภาพลักษณ์ของความเจริญก้าวหน้า การเปลี่ยนคุณภาพชีวิตให้ทันสมัย หรือดีขึ้น ดังนั้นการเดินทางของคนจำนวนมากเข้ามาในเมืองใหญ่ จึงทำให้เกิดการใช้พื้นที่อย่างหนาแน่น ทั้งของคน และยานพาหนะ อีกทั้งมีการควบคุมและกำหนดพื้นที่อย่างแยบยล ไม่ว่าการแบ่งพื้นที่ทางสังคม หรือพื้นที่ทางสถาปัตยกรรม เช่น การกำหนดที่จอดรถยนต์ พื้นที่ของส่วนบริหารซึ่งไม่อนุญาตให้คนทั่วไปเข้าไปใช้ได้ เป็นต้น 3.4 การยอมรับเอาความงามทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ทั้งด้านการทำงาน การผลิต และการพักผ่อนหย่อนใจ ทำให้เกิดการใช้พื้นที่ และกิจกรรมใหม่ๆ อย่างเช่นในรูป โรงหนังกลางแจ้งสำหรับคนขับรถส่วนตัว หรือโรงภาพยนตร์ ทั้งสามมิติหรือไม่สามมิติก็ได้ เป็นการเปลี่ยนแปลงให้การใช้ชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชีวิตในเมืองใหญ่ให้เข้ากับ ระบบการผลิต และระบบการบริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบริโภคเวลาของคนเมืองใหญ่ ซึ่งกลายเป็นทาสของเวลา และบริโภคเวลานี้เองที่กลายมาเป็นการแลกมาของเงิน ดังนั้นเราจึงได้ยินคำพูด บ่อยๆที่ว่า เวลาคือเงิน อย่างไรก็ตาม ผมอยากที่จะขอสรุปอย่างคร่าวๆ ของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในรอยต่อของยุคสมัยที่เรียกว่า Modernism คือการเกิดขึ้นของคำว่า "มาตราฐาน" (Standardization) ซึ่งเป็นตัวแปรที่สำคัญที่สุดในการ "วัดคุณค่า" ทั้งการผลิตและการบริโภค ไม่ว่าจะเป็นการผลิตให้ได้มาตราฐาน ซึ่งหมายถึงของทุกชิ้นที่ออกมาสู่ตลาด ต้องมีคุณภาพที่ดีเหมือนกันทั้งหมด มาจากมาตราฐานเดียวกัน การได้มาซึ่งมาตราฐานย่อมหมายถึง การได้มาซึ่งชื่อเสียง อำนาจในการต่อรอง การได้เปรียบทางการค้า และท้ายที่สุด คือ เงิน (ผู้บริโภคย่อมต้องซื้อหาสินค้าที่มีมาตราฐาน) อย่างไรก็ดี การเกิดขึ้นของชนชั้นทางสังคม ก็ถูกกำหนดขึ้นจากมาตราฐานตัวเดียวกันนี้. การสร้างภาพให้ผู้คนพยายามที่จะสามารถครอบครองความมีมาตราฐาน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สบายขึ้น เป็นการเลื่อนขั้นทางสังคมอย่างหนึ่งซึ่ง Modernism สัญญาเอาไว้กับมนุษย์ และในขณะเดียวกันการสร้างมาตราฐาน ก็กลายมาเป็นการสร้างกรอบ หรือระเบียบปฎิบัติต่อสังคม เพื่อให้ดำเนินไปอย่างดี อย่างเป็นปกติ 4. สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ปกติ เราอาจจะโยงการเปลี่ยนแปลงโดยภาพรวมที่เกิดขึ้นกับรอยต่อของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเทคโนโลยี เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของการใช้สอย และรูปแบบทางสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ยกตัวอย่างเช่น Walter Gropius กับการเกิดขึ้นของสถาบัน Bauhaus, การนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาวัสดุสมัยใหม่ๆ (ในช่วงสมัยนั้น) เช่น เหล็ก และ กระจก, การเกิดขึ้นของตึกสูง และตึกระฟ้า, โครงสร้างขนาดใหญ่ และ Long Span Structure, การนำเอาระบบตารางและพิกัดมาใช้ในการผลิตวัสดุอุปกรณ์ ต่างๆ ในวงการก่อสร้าง, คุณค่าความงามที่ถูกความเรียบง่าย และสะอาดเป็นเครื่องมือใช้วัดความงาม และที่สำคัญ คือการกำหนดค่ามาตราฐานกลางต่างๆ เช่น สัดส่วนของมนุษย์ที่ใช้ มนุษย์สูง 1.80 เมตรในการเป็นต้นแบบ เป็นการสร้างมาตราฐานให้กับคุณค่าของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ที่ถือกันว่า เป็นสถาปัตยกรรมที่มีคุณภาพที่ดี เหมาะสำหรับคุณภาพชีวิตที่ดี แท้จริงแล้วมาตราฐานของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ก็เริ่มละเลยคุณภาพที่แตกต่าง ซึ่งแตกต่างจาก "มาตราฐาน"ของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ หรือสมัยใหม่นิยม ดังนั้นเราจึงอาจกล่าวได้ว่า สถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้น คือสิ่งที่พยายามทำให้เห็นว่าเป็น "สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ปกติ" และจากมุมมองนี้ที่เป็นจุดสำคัญต่อวงการนักคิด นักออกแบบทั้งหลาย ที่มองเห็น "กรอบ" หรืออีกนัยคือ มาตราฐานเหล่านี้ ทำให้พวกเขารู้สึกว่า การดิ้นรนหาทางออกจาก กรอบหรือมาตราฐานที่ถูกกำหนดเป็นการท้าทาย การเกิดขึ้นของการเปลี่ยนแปลง (อีกที และอีกที) พยายามทำให้เกิดความไม่ปกติขึ้น มองสิ่งที่เป็นปกติ (หรือถูกทำให้เป็นปกติ) ในมุมมองใหม่ๆ จาก "ตา" ของพวกเขา จากความคิดเห็นส่วนบุคคล และสำหรับผม ทำให้สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ปกติ ให้กลายเป็นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่เกือบปกติ หรือ ผิดปกติ วิธีการที่ทำให้ความปกติ กลายเป็นความเกือบปกติ หรือผิดปกติ โดยทั่วไปแล้ว ชาวตะวันตกมักจะหยิบยืม ความคิดของนักคิด นักปรัชญา ทั้งหลายมาเป็นเครื่องมือในการมอง ในการคิด คล้ายๆ กับการเลือกหาแว่นตาใหม่ๆ เพราะเมื่อเวลามองจากสายตา ผ่านเครื่องช่วยมองอันนี้ จะทำให้ให้เห็นอะไรต่างๆชัดขึ้น เห็นโลกในมุมใหม่ๆ ในมุมที่เกือบปกติ หรือผิดปกติได้ สำหรับผมแว่นตาที่ผมหยิบมาสวม คือแนวความคิดของ Michel Foucault โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ทฤษฎีที่ว่าด้วยอำนาจและการใช้อำนาจ" (Theory of Power) 5. มุมมองใหม่ผ่านแนวคิด Michel Foucault กับทฤษฎีที่ว่าด้วยอำนาจและการใช้อำนาจ Foucault ได้มอบเครื่องมือพิเศษสำหรับการเข้าใจ และการเห็นความสัมพันธ์ของอำนาจ ไม่ว่าจะในแง่ของรูปธรรม และนามธรรม. Foucault ได้พัฒนาความคิดของเขาจากความคิดเบื้องต้นของ จิตวิเคราะห์ ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาจาก Simund Freud (Psychoanalysis) เป็นการมองเข้าไปในส่วนรากเหง้าของโครงสร้างทางสังคม ในคู่ความสัมพันธ์ของ อำนาจและความรู้ (Power/Knowledge) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาหาความสัมพันธ์ ของกรอบและผู้ที่อยู่ในกรอบ, ผู้กำหนดและผู้ถูกกำหนด, การควบคุมและการถูกควบคุม, และที่สำคัญคือ การเชื่อมโยงในการใช้อำนาจและที่ว่าง ทั้งทางสังคม และสถาปัตยกรรม ที่จะกล่าวถึงต่อไป จากการที่ Foucault ได้มองเห็นถึงคู่ความสัมพันธ์ของอำนาจและความรู้ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สังคม และโครงสร้างทางสังคม "ดำเนินไปอย่างปกติ" และพยายามทำให้เกิดโอกาสเข้าไปสั่นคลอนโครงสร้างปกติอันนี้ จากคน หรือ กลุ่มคน ที่อยู่ภายใต้กรอบ หรือ มาตราฐาน ที่ถูกกำหนดเอาไว้แล้ว เริ่มที่จะดิ้นรนหาทางออก หรือพื้นที่ของพวกเขาเอง ทั้งในแง่ พื้นที่ทางนามธรรม (Social Space) และรูปธรรม (Architectural Space) ยกตัวอย่างเช่นกลุ่มชนกลุ่มน้อยต่างๆ (Minority Groups) กลุ่มคนผิวสี, กลุ่มคนอ้วน, กลุ่มคนที่เป็นผู้หญิง, กลุ่มคนที่เป็นคนรักร่วมเพศ หรือแม้กระทั่งอย่างที่กล่าวมาแล้ว นักเรียนช่างกล ช่างศิลป์ ต่างๆ ซึ่งพยายามสร้างพื้นที่ หรืออาณาเขตทางอำนาจของตัวเอง Foucault ได้เสนอถึงรูปแบบของการซ้อนทับกันระหว่าง พื้นที่ว่างทางสังคม (Social Space) กับพื้นที่ว่างทางสถาปัตยกรรม (Architectural Space) และในขณะเดียวกันก็เป็นความสัมพันธ์ในทางกลับกัน คือพื้นที่ทางสถาปัตยกรรมเป็นตัวกำหนดพื้นที่ทางสังคม จะเห็นได้ว่ามิติของที่ว่างทั้งสองสิ่งอยู่คู่กัน และส่งผลกระทบต่อซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Panopticon และ Heterotopia (Other Spaces) เป็นตัวอย่างที่สำคัญของแนวความคิดของ Foucault ต่อที่ว่างทางสถาปัตยกรรม 5.1 Panopticon คือรูปแบบคุกซึ่ง Jeremy Bentham ออกแบบเอาไว้และ Foucault ได้นำมาวิเคราะห์ถึงความสัมพันธ์ระหว่าง มิติของพื้นที่ว่างทางสังคม และมิติของพื้นที่ว่างทางสถาปัตยกรรม ตาม"ทฤษฎีที่ว่าด้วยอำนาจและการใช้อำนาจ" การควบคุมนักโทษ โดยการใช้สายตาของผู้ควบคุมที่ตั้งอยู่ที่จุดศูนย์กลางของคุก ซึ่งหอคอยกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการควบคุม และการใช้อำนาจ เป็นการควบคุมหรือการสร้างกรอบ ทางความคิดและทางจินตนาการต่อนักโทษ ให้รู้สึกว่าตัวเขา กำลังมีคนควบคุมอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะมีคนคุมหรือไม่ก็ตาม เป็นการใช้ที่ว่างทางสถาปัตยกรรมเป็นเครื่องมือ กำหนดมิติที่ว่างทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สังคมของนักโทษ นอกจากนั้น Panopticism ยังกลายเป็นสัญลักษณ์ของการควบคุมโดยเทคโนโลยี ไม่ใช่แค่นักโทษ แม้แต่คนปกติทั่วไป เราเองก็ถูกควบคุม และสอดส่องโดย กล้อง Surveillance เป็นการเปลี่ยนแปลงทางสัญลักษณ์ของ Panopticism อย่างหนึ่ง. สิ่งซึ่งน่าคิดตรงนี้ก็คือว่า ใครมีอำนาจในการสอดส่อง และควบคุมคนแต่ละคนบนพื้นที่ว่างสาธารณะ. เรากลายเป็นนักโทษโดยไม่ได้รู้ตัว และที่สำคัญทุกอย่างถูกดำเนินไปอย่างเป็นปกติ 5.2 Heterotopia (Other Spaces) คือแนวความคิดของ Foucault อีกอย่างหนึ่งซึ่งผมอยากจะนำมาเล่าสู่กันฟัง นอกจากที่ Foucault ได้สร้างเครื่องมือในการเชื่อม มิติของพื้นที่ว่างทางสังคม และทางสถาปัตยกรรมเข้าด้วยกันแล้ว ดังที่ยกตัวอย่าง Panopticon. Foucault นำเสนอถึงการควบคุมและจัดการที่ว่างสถาปัตยกรรมที่มีผล ต่อมิติของที่ว่างทางสังคมโดยใช้ แนวความคิดในเรื่อง Heterotopia หรือในอีกชื่อหนึ่งคือ Other Spaces โดยทั่วไปแล้ว Heterotopia เป็นการนำเสนอถึงการจัดการ การปิดบัง ซ่อนเร้น กลุ่มคนที่มีลักษณะผิดไปจาก มาตราฐาน ปกติ หรือที่อยู่นอกเหนือจากกรอบและมาตราฐานที่จะทำให้ การดำเนินไปของสังคมปกติ เป็นไปอย่างไม่เป็นปกติ ดังนั้น จึงกำหนดให้กลุ่มคนพวกนี้ไปใช้พื้นที่บริเวณริมขอบของพื้นที่ต่างๆ และถูกกำหนดให้ห่างออกจากสังคมปกติ บริเวณที่ห่างไกลจากการมองเห็นของคนปกติทั่วไป พื้นที่เหล่านี้ถูกกำหนด ถูกกรอบให้เป็นพื้นที่ต้องห้าม ห้ามคนที่เป็นปกติก้ำกราย และห้ามก้ำกรายคนปกติ. เป็นพื้นที่สำหรับคนไม่ปกติ คนบ้า คนป่วย หรือ คนคุก คือ โรงพยาบาลโรคประสาท โรงพยาบาล คุก เป็นต้น พื้นที่เหล่านี้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของการใช้อำนาจ บนพื้นที่ว่าง เป็นการซ้อนทับของมิติทางการใช้อำนาจ ลงไปบนมิติของที่ว่างทางสังคม และบนมิติของที่ว่างทางสถาปัตยกรรม ทำให้เกิดเป็น ที่ว่างที่ไม่ปกติ หรือที่ว่างที่ผิดปกติ (Other Spaces) นอกจากพื้นที่ต่างๆ เหล่านี้ที่ถูกใช้เป็นที่ตั้ง ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล โรงพยาบาลโรคประสาท หรือคุก แล้ว แนวความคิดของ Foucault ในเรื่อง ที่ว่างที่ไม่ปกติ (Other Spaces ) ยังมีความหมายครอบคลุมลงไปในทุกๆ ส่วนของสังคม หรือหน่วยเล็กที่สุดของสังคม คือ คนและร่างกายของคน ไม่ว่าจะเป็น ความดี-ความเลว, ความสว่าง-ความมืด, ความฉลาด-ความโง่, ความสวยงาม-ความน่าเกลียด, ผู้ชาย-ผู้หญิง, คนผอม-คนอ้วน, รักต่างเพศ-รักร่วมเพศ, และคู่ความสัมพันธ์ของโครงสร้างสังคมแบบปกติ ที่ทาง"สถาบัน"ต่างๆ เป็นผู้กำหนดให้ ไม่ว่าจะเป็น สถาบันทางการศึกษา, สถาบันทางศิลปะ, สถาบันทางการเงิน, หรือ สถาบันครอบครัว เป็นต้น ดังนั้นความหมายของ Other Spaces จึงเป็นการเรียนรู้จากกรอบ "กรอบของความปกติ" ซึ่งมักจะถูกกำหนดขึ้นจาก "สถาบัน" (Institution and Institutionalized Power) ให้เกิดความปกติ เรียบร้อย ในการเข้าใจความสัมพันธ์ของโครงสร้างกลไกทางสังคม และสามารถมองเห็นการใช้อำนาจนั้นบนพื้นที่ว่าง ไม่ว่าจะเป็นไปในรูปของ พื้นที่ว่างทางสังคม หรือ พื้นที่ว่างทางสถาปัตยกรรม เป็นการเข้าใจถึงความสัมพันธ์อันซับซ้อนของโครงสร้างทั้งสอง และเป็นการหาช่องว่างสำหรับกลุ่มคนที่อยู่ภายใน"กรอบ"ที่พวกเขาจะมีโอกาสสร้างมาตราฐาน ของพวกเขาเอง มีที่ว่างสำหรับตัวของเขา หรือกลุ่มของพวกเขาเอง ไม่ใช่ที่ว่างที่ถูกคนอื่นกำหนดขึ้น หรือสร้างให้. การเกิดขึ้นของกลุ่มนักคิดในแนวนี้ เช่น Feminine Theory, Queer Theory, Oriental and African Studies, ส่วนในทางสถาปัตยกรรม Other Spaces หรือการทำให้เห็นถึงความแตกต่าง และเปิดโอกาสให้เกิดความแตกต่างทางสถาปัตยกรรม ไม่ใช่แค่การทำให้เกิดความแตกต่างทาง รูปทรง และรูปร่าง เช่นการใช้รูป Curve หรือเส้นโค้งต่างๆ ทำให้เกิดรูปทรงที่ผิดแผก แตกต่างจากระบบโครงสร้างปกติ เช่น เสาคาน ระบบพิกัดต่างๆ ในมุมหนึ่งอาจจะสามารถพูดได้ว่า นั้นคือการทำให้เกิดความแตกต่าง แตกต่างจากสิ่งที่มีคนเคยทำมา แต่ในความมุ่งหมายของตัวผม Other Spaces คือการเข้าใจถึงหัวใจของ ความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นปกติทั่วไป ซึ่งมักจะเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดขึ้น เป็นค่ามาตราฐานในสังคม แม้กระทั่งความงาม และสถาปัตยกรรม กับการทำให้เกิดความผิดปกติ หรือไม่ปกติขึ้นกับสถาปัตยกรรม ซึ่งเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์กันระหว่าง มิติทางสังคม และมิติทางสถาปัตยกรรมเข้าด้วยกัน ไม่ใช่นำเอา สถาปัตยกรรม แยกตัวออกจากมิติทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสังคมไทย ซึ่งผมขออ้างถึงข้อเขียนของ อาจารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ซึ่งเขียนไว้ว่า "กระบวนความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย เกิดขึ้นในลักษณะการพัฒนาแบบพึ่งพาอาศัย ทั้งจากพื้นฐานที่เก็บสะสมมา ไม่ว่าจะเป็น ประวัติศาสตร์, วัฒนธรรม, ศาสนา, รวมถึง เศรษฐกิจ, และการเมือง ซึ่งเป็นการพัฒนาวิธีคิดความหมายของการสร้างความแตกต่าง ที่ต่างออกไปจากวิธีคิดของชาวตะวันตก ที่เน้นมาจากความคิดริเริ่มของแต่ละบุคคลเป็นใหญ่ (Individuality) ดังนั้น คำถามที่ผมข้ามไปตอนกลางของบทความ ที่ว่า "การเกิดความแตกต่างขึ้นดี หรือไม่ดี" สามารถตอบ ณ ที่นี้ คือ ถ้าเราสร้างความแตกต่างจากความคิดริเริ่มส่วนบุคคล ฝ่ายเดียว โดยไม่สนใจคนรอบข้างว่าเป็นอย่างไร คิดเห็นอย่างไร หรือ สัมพันธ์กับปัจจัยอื่นๆ อย่างไร เราก็ยังไม่สามารถหนีจาก "กรอบใหญ่" ที่สุดของสถาบันได้ นั่นคือ White-Male (Heterosexual) World คือโลกของผู้ชายผิวขาวชาวตะวันตก ซึ่งเป็นที่มาของการสร้างกรอบต่างๆ ที่ใช้เป็นมาตราฐานของสังคมปกติ เรื่อยๆมา ซึ่งนานและยากต่อการเข้าไปแก้ไขเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม ถ้าเราสามารถพัฒนาโดยการพึ่งพาอาศัย จาก มิติที่ว่างทางสังคม ไปสู่มิติอื่นๆ รวมทั้ง มิติที่ว่างทางสถาปัตยกรรมได้ นี่อาจจะเป็นการริเริ่มสร้างความแตกต่าง สำหรับการหนีออกจาก "กรอบใหญ่ที่สุด" อันนี้ ไปสู่การสร้างความแตกต่างอย่างสมบูรณ์แบบ สร้างสถาปัตยกรรมที่ไม่ปกติขึ้น ในโลกของสถาปัตยกรรมที่เป็นปกติตามสายตาของ ชาวตะวันตกได้ ผู้เขียน : สันต์ สุวัจฉราภินันท์ คณะสถาปัตยกรรม มช. ขอบคุณข้อมูลจากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : http://61.47.2.69/~midnight/fineartcmu2001/newpage23.html |
สถาปัตยกรรมปกติ และ ที่ว่างที่ผิดปกติ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น