แต่งบ้านแบบง่ายๆ ดีไซน์ห้องในฝันให้เป็นจริง

          การลงมือตกแต่งบ้านด้วยตนเองแม้จะสิ้นเปลืองเวลาและอาจจะยุ่งยากบ้าง แต่ก็เป็นความเหนื่อยและยุ่งยากระคนความสุข ยิ่งได้ผลงานที่ออกมาทำให้บ้าน หรือมุมต่างๆ ของบ้านเปลี่ยนไปตามที่ใจอยากจะให้เป็น ก็ยิ่งหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง
          คอลัมน์ "เดคอเรต" ฉบับนี้ ขอแนะนำการตกแต่งบ้านด้วยวิธีง่ายๆ ที่เก็บตกจากกิจกรรม "แต่งบ้านอย่างไรน่าอยู่" ซึ่งจัดขึ้นที่บริเวณชั้น 2 อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ สาขารังสิต โดยการผนึกกำลังกันของบริษัท บางกอก แฟรนไชส์ จำกัด บริษัท วังทอง กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท โฮมบายเออร์ไกด์ จำกัด
          โดยนำลูกบ้านโครงการวังทอง และลูกค้าของอินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ พร้อมรูปแบบห้อง (Floor Plan) มาพบปะนิสิตนักศึกษาชั้นปีที่ 2-4 จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และคณะศิลปกรรม สาขาวิชาออกแบบภายใน มหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อช่วยกันดีไซน์ห้องในฝันให้เป็นความจริง
          โดยมี "มัลลิการ์ บุณฑริก" รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยา ลัยรังสิต "คงรัฐ สุนทรโรจน์พัฒนา" อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรม สาขาวิชาออกแบบภายใน มหาวิทยาลัยรังสิต และ "พิริยะ บุญกิตติวัฒนา" ผู้จัดการอินเด็กซ์ ดีไซน์เซ็นเตอร์ กลุ่มบริษัทบางกอก อินเตอร์เฟิร์น ในฐานะดีไซเนอร์เฟอร์นิเจอร์ คอยให้คำแนะนำ
เฟอร์นิเจอร์ช่วยเปิดมุมมองต่อเนื่อง
          สำหรับตัวบ้านและห้องที่นำมาเป็นแบบอย่างในการตกแต่ง เป็นบ้านขนาดเนื้อที่ไม่ใหญ่ไม่เล็ก พอดีๆ เพื่อผู้รักบ้านทั่วๆ ไป จะได้มั่นใจว่า แม้จะมีพื้นที่ใช้สอยไม่มาก แต่ก็สามารถออกแบบตกแต่งให้ดูโปร่งโล่งสบายได้ เช่น การออกแบบพื้นที่ชั้น 2 ให้มีพื้นที่เปิดโล่งส่วนหนึ่ง ก็จะช่วยลดความอึดอัดของตัวบ้าน
          ส่วนการออกแบบ "บ้านเล่นระดับ" แม้จะช่วยให้บ้านดูโปร่ง แต่วิธีนี้ไม่เหมาะกับบ้านที่มีพื้นที่ใช้สอยไม่มาก
เช่นเดียวกับการตกแต่งภายใน ควรเลือกใช้ของตกแต่งที่เป็น "ของนิ่ม" เช่น เฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากนวม เพื่อช่วยลดความแข็งกระด้าง และไม่ควรมองข้ามการใช้สี โดยเฉพาะห้องที่มีพื้นที่แคบ ควรเลือกเฟอร์นิเจอร์ "สีอ่อน" 
ที่ไม่ควรมองข้ามคือ "มุมมอง" การเลือกเฟอร์นิเจอร์สามารถสร้างให้เกิด "มุมมองต่อเนื่อง" ได้ หมายถึงอาจเลือกเฟอร์นิเจอร์มาตกแต่งเป็นฉากกั้นเพื่อแบ่งแยกสัดส่วนพื้นที่ 
"อยู่สบาย-ใช้ประโยชน์สูงสุด"
          การตกแต่งให้อยู่สบายและใช้ประโยชน์ได้สูงสุด คือสิ่งสำคัญมากกว่าตกแต่งให้สวยงาม หรือเลียนแบบตามแมกาซีน เพราะจะได้บ้านที่เหมือนคนอื่น แต่ไม่ใช่บ้านที่เป็นสไตล์ของตัวเองจริงๆ 
          อย่างไรก็ตาม มีเจ้าของบ้านจำนวนไม่น้อยที่ให้ความสำคัญกับงบประมาณเพื่อให้หน้าตาของบ้านออกมาสวยงาม และละเลยเรื่องการออกแบบภายในที่เกี่ยวข้องกับของตกแต่ง-เฟอร์นิเจอร์ไป สิ่งที่ดีที่สุดคือ ควรวางงบประมาณทั้งการก่อสร้างและการออกแบบภายในให้เหมาะสม
เลือกเฟอร์นิเจอร์ตามสไตล์เฉพาะตัว
          สำหรับการเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ ที่ผ่านมาเฟอร์นิเจอร์มีพัฒนารูปแบบเพื่อรองรับกับเทรนด์บ้าน ทั้งเฟอร์นิเจอร์ในสไตล์โมเดิร์น, โอเรียน ทอล (แนวตะวันออก) และแนวบาหลี มีให้เลือกหลากหลายมากขึ้น 
          แต่โดยรวม คำนิยามของเฟอร์นิเจอร์สไตล์โมเดิร์นน่าจะหมายถึงงานที่เป็นแนวเรียบๆ แต่มีความกุ๊กกิ๊กที่เป็นเอกลักษณ์แฝงอยู่ ขณะที่เฟอร์นิเจอร์สไตล์โอเรียนทอล จะเป็นมีลายเส้น และมีความเป็นธรรมชาติในชิ้นงาน เช่น มือจับจะทำจากไม้ รวมถึงแนวบาหลีที่โทนสีจะเป็นเข้มขรึม
          อย่างไรก็ตาม การเลือกเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน ควรคำนึงถึงขนาดพื้นที่ใช้สอยภายในบ้าน การใช้งาน รูปแบบ สีสัน คุณภาพ การติดตั้ง และงบประมาณเป็นหัวใจหลัก และให้เลือกในสิ่งที่คนในครอบครัวต้องการ เพื่อให้บรรยากาศที่ออกมาเป็นสไตล์ที่เจ้าของบ้านต้องการจริงๆ
          ถ้าอยากให้ออกแบบและตกแต่งบ้านในแบบที่เรามองดูเมื่อไรก็มีความสุขเมื่อนั้น แทนที่จะออกแบบเพราะดูจากแบบบ้านของคนอื่นๆ โดยที่เราไม่ได้มีวิถีชีวิตแบบเดียวกัน
          เคล็ดลับการแต่งบ้านอีกอย่างหนึ่ง ให้มองเรื่องฟังก์ชันการใช้สอยที่สอดคล้องกับรูปแบบการใช้วิถีชีวิตก่อนเป็นอันดับแรก ส่วนเรื่องความสวยงามบุคลิกภายนอกตัวบ้านให้เป็นเรื่องรอง 
          ไม่เช่นนั้นคุณอาจได้บ้านที่สวยงาม แต่อยู่แล้วไม่เติมเต็มความสุขอย่างที่คิด 

กูรู ม.รังสิต เผยเคล็ดลับเรียน “interior Design” วางแผนดี อนาคตไกล





         อาจารย์ภาควิชาออกแบบภายใน คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.รังสิต เผย สาขาวิชา “Interior Design”
 ออกแบบตกแต่งภายใน เหมาะสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบศิลปะ วาดภาพ มีความคิดสร้างสรรค์ แนะควรเปิด
โลกทัศน์ อ่านหนังสือเดินทางท่องเที่ยวเก็บประสบการณ์มาประยุกต์ใช้ ไม่ควรย่ำอยู่กับที่ พร้อมแนะบัณฑิตใหม่ 
อย่าเลือกงาน รีบคว้าโอกาสโชว์ ศักยภาพ อาจก้าวไกลสู่ระดับนานาชาติ

ผณิภุช ชาญเลขา อาจารย์จากภาควิชาออกแบบภายใน คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
       ผณิภุช ชาญเลขา อาจารย์จากภาควิชาออกแบบภายใน คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และประธานกรรมการ
บริหารเดอะ เบบี้ อาร์ท สตูดิโอ (The Baby Art Studio) กล่าวว่า หลังจากที่สำเร็จการศึกษาจากคณะศิลปกรรมศาสตร์
 มหาวิทยาลัยรังสิตก็ได้มีโอกาสได้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขา Interior Architecture & Design ออกแบบตกแต่ง
ภายในและโครงสร้างสถาปัตยกรรม Motion ที่ Academy of Art University San Francisco, California USA มหาวิทยาลัยศิลปะ
และ Designที่ได้รับการรับรองที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา ซึ่งทัศนคติของชาวต่างชาติกับชาวไทยเกี่ยวกับงานด้าน Interior หรือ
การออกแบบตกแต่งภายในนั้นต่างกันอยู่มาก สำหรับชาวตะวันตกจะให้ความสำคัญกับศิลปะการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ และอุปกรณ์ต่างๆ
ภายในบ้านให้คุ้มและใช้ประโยชน์ได้มากที่สุดโดยต้องมีความสวยงามด้วย แต่คนไทยมักคิดว่างานตกแต่งภายในเป็นการใช้เงินสิ้น
เปลืองโดยไม่จำเป็น จึงเกิดคำถามบ่อยๆ ว่า วิชาชีพและการเรียนในสาขา Interior Design ในบ้านเรา จบไปจะไปทำอะไร ตลาดต้องการ
บุคลากรด้านนี้มากน้อยแค่ไหน
เผยสาขาวิชา “ Interior Design” ออกแบบตกแต่งภายใน เหมาะสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบศิลปะ วาดภาพ
       สำหรับคนที่กำลังจะเลือกเรียนทางด้าน Interior Design นั้น อาจารย์ผณิภุช แนะนำว่า ก่อนอื่นต้องถามตัวเองก่อนว่า
มีทักษะทางด้านศิลปะแค่ไหน มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์หรือเปล่า ถ้าคำตอบ คือ “มีพร้อม” ให้ลองศึกษาตลาดของงานด้าน
สถาปัตยกรรม การออกแบบตกแต่งภายใน
   
       “ต้องศึกษาทางด้านการตลาดทั้งของไทยและต่างประเทศ ว่า ปัจจุบันนี้ทิศทางเป็นเช่นไร เมื่อรู้จุดยืนของตัวเอง
และมีข้อมูลด้านวิชาชีพแล้ว ต่อไปให้เริ่มหาหลักสูตรการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษาต่างๆ ซึ่งการเรียนในสาขานี้
จะให้ความสำคัญเรื่องการปฏิบัติ การสื่อสาร ทักษะการวาดภาพ โครงสร้างสถาปัตยกรรม การคำนวณ ทฤษฎีการใช้สี
 และจิตวิทยา นอกจากนั้น สิ่งที่ควรทำคือเปิดโลกทัศน์ เปิดหูเปิดตา ด้วยการอ่านหนังสือ และเดินทางท่องเที่ยว
 เก็บเกี่ยวประสบการณ์และไปดูงานศิลปะหลายๆ แขนงอยู่เสมอ งานด้านนี้อยู่นิ่งไม่ได้ แม้เราจะมีสไตล์เป็นของตัวเอง 
แต่ก็ไม่ควรย่ำอยู่กับที่กับความคิดเดิมๆ”
       ส่วน สาขาวิชา “Interior Design” มีความจำเป็นในอนาคตหรือไม่ ในเรื่องนี้ อาจารย์ผณิภุช ได้ให้คำแนะนำเช่นกันว่า
 ขอมองงานออกแบบและตกแต่งภายในนี้คือความสวยงามที่แฝงประโยชน์ใช้สอยร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นจัดวางเฟอร์นิเจอร์หรือปรับ
โครงสร้างใหม่
 การรื้อกระเบื้องปูพื้น จัดแสงไฟ ทำผนัง ทุกสิ่งทุกอย่างผู้ออกแบบจะต้องตอบสนองความต้องการของเจ้าของบ้าน เจ้าของงานให้ได้
และดำเนินการภายใต้งบประมาณที่เจ้าของบ้านกำหนดไว้ งานอินทีเรียร์ที่ดีควรคำนึงไลฟ์สไตล์และความชอบของเจ้าของบ้าน บางค
นอาจมองว่าการออกแบบตกแต่งภายในเป็นแค่การทำเฟอร์นิเจอร์บิวท์อินหรือนำเฟอร์นิเจอร์มาวาง แต่จริง ๆ แล้ว งานต้องครอบคลุม
ถึงการให้คำปรึกษาทางวิชาการด้านโครงสร้าง ไฟฟ้า ประปา แสงสว่าง อุณหภูมิ รวมถึงการคำนวณงบประมาณกับความเป็นไปได้ของ
การสร้างสรรค์งานจริง
   
       ดังนั้น การที่จะตอบโจทย์ว่า Interior Design จำเป็นหรือไม่ ขอบอกว่า “ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ที่ทำงาน หรือ ร้านค้า ร้านอาหาร
 ที่มีอุปกรณ์และเฟอร์นิเจอร์ใช้งานสะดวก สะอาด จัดวางได้ถูกที่ถูกใจ จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนเราดีขึ้น ศิลปะที่สวยงามอยู่
รอบตัว
จะทำให้เกิดแรงบันดาลใ
จและพลังมากขึ้น” ดังนั้นนิยามของคำว่า “จำเป็น” และ “ไม่จำเป็น” ของแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยและความต้องการ
       “งานด้านอินทิเรียดีไซน์ต้องไม่หยุดนิ่ง หากมีโอกาสควรไปศึกษา หรือดูงานสถาปัตยกรรมและการออกแบบของประเทศต่างๆ 
เพื่อไม่ให้สมองตัน เพราะแต่ละปีเทรนของการออกแบบ ความต้องการ และปัจจัยแวดล้อม จะเปลี่ยนไปอยู่เสมอ อย่างเช่น เมื่อตอน
ที่ทำงานอยู่ที่ซานฟรานซิสโก กับ บริษัท Harthowerton ก็ได้ประสบการณ์ดีๆ จากที่นี่มาก ทั้งในเรื่องของการออกแบบ ระบบการ
ทำงา
น คอนเนกชัน เราต้องทำงานให้คนต่างชาติยอมรับให้ได้ ซึ่งต้องปรับกระบวนการคิดหลายอย่าง เพราะมาตรฐานของต่างชาตินั้นค่อน
ข้าง
จะละเอียดอ่อนกว่าบ้านเรา”
   
       สำหรับงานที่คิดว่าภูมิใจที่สุด ก็คือ ได้มีส่วนร่วมในโปรเจกต์ใหญ่ยักษ์ ทั้งที่โมร็อกโก และ สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ เป็นโปรเจกต์
ในรูปแบบคอมมิวนิตี (community) ที่มีทั้งสปา สปอร์ตคลับ ที่พักอาศัย โรงแรม คลับเฮาส์ งานนี้เป็นงานที่ใหญ่มาก ในโครงการมี 51
 โครงการย่อยอยู่ในนี้ ต้องประสานงานกับคนมากมาย และบุคคลเหล่านี้อยู่ต่างประเทศ ต่างภูมิภาค ต่างทวีป ซึ่งใช้ช่วงเวลาต่างกัน
ทำให้การประชุมและการสื่อสารค่อนข้างลำบาก นอกจากนั้นสิ่งที่ท้าทายอีกเรื่องหนึ่ง ก็คือ การทำงานกับกลุ่มคนจำนวนมาก
 ซึ่งแต่ละคนก็มีหลากความคิดหลายมุมมอง กว่าจะได้มาซึ่งข้อสรุปในส่วนต่างๆ อาทิ ด้านแลนด์สเคป แลนด์เพลนนิง อาคิเทค
 ผู้ออกแบบระบบแสง ผู้ดูแลสิ่งแวดล้อม ก็ใช้เวลานานพอสมควร ซึ่งต้องขอบคุณ บริษัท Harthowerton มากๆ ที่ให้โอกาสคนไทย
อย่างเราได้ทำโครงการระดับโลกนี้
   
       “สำหรับนิสิต นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาด้านนี้มาแล้ว แต่ยังหางานไม่ได้ ก็อย่าพึ่งท้อ ใช้ช่วงเวลานี้หาไปฝึกงานเพื่อเพิ่มทักษะ
 อย่าเลือกองค์กร ถ้าที่ไหนให้โอกาสรีบก้าวเข้าไปหาประสบการณ์ ตั้งใจที่จะเรียนรู้และสิ่งดีๆ จะกลับมาหาตัวเราเอง”

ผู้ก่อตั้ง PayPal ทุ่มเงิน 1.25 ล้านUSD สร้างเมืองขนาดเล็กกลางทะเล

Peter Thiel เป็นที่รู้จักกันดีถึงความที่เป็นคนมีความคิดก้าวหน้า ล้ำยุคกว่าใครๆคนหนึ่งในยุคนี้
เขาเป็นผู้ริเริ่ม Paypal ระบบการเงินในโลกออนไลน์  เป็นผู้ให้ทุนกับ facebook
และขณะนี้เขาก็กำลังให้ความสนใจในการสร้างเมืองของเขาเองที่อยู่ไกลออกไปในมหาสมุทรเปิด
 เขากำลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับกลุ่มที่ชื่อว่า Seasteading Institute เพื่อสร้างรัฐอิสระ
ในน่านน้ำนานาชาติปลอดพ้นจากกฏหมายของทุกๆประเทศ ..มาถึงตรงนี้เลยขอมาทำความรู้จักกับ
องค์กรไม่หวังผลกำไรที่ชื่อว่า Seasteading นี้กันซะหน่อยมันน่าสนใจมากๆ
Seasteading Institute
Seasteading มี mission ว่า To further the establishment and growth of
permanent, autonomous ocean communities, enabling innovation
with new political and social systems.
และในบทนำในเว็บไซต์ของ Seasteading Institute บอกถึงความเชื่อและความเป็นมาที่ทำให้เกิด
องค์กรนี้ไว้ว่า  “เราเชื่อว่าการทดลองเป็นส่วนสำคัญในความก้าวหน้าทั้งหลาย การที่จะพบสิ่งที่ดีขึ้น
 คุณจำเป็นต้องพยายามทำสิ่งใหม่ๆ แต่โลกในปัจจุบัน มันไม่มีที่เหลือให้สำหรับการทดลองสร้างสังคมใหม่”
และนี่จึงเป็นที่มาว่าทำไมจึงต้องมีการสร้างชุมชม seasteading ขึ้น เป็นเมืองที่ลอยน้ำ เป็นที่ที่จะให้โอกาส
กับนักบุกเบิกรุ่นใหม่ได้ทดลอง ทดสอบ แนวคิดใหม่ๆเกี่ยวกับระบบการปกครอง การเงินธนาคาร
การสาธารณสุข ความสำเร็จสูงสุดก็คือเป็นแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนแปลงการปกครองทั่วโลก
 “เรา บุกเบิกเขตแดนใหม่นี้ก็เพราะ มนุษยชาติ ต้องการวิถีทางที่ดีกว่าในการอยู่อาศัยร่วมกัน
เพื่อปลดล็อกพันธนาการสู่ศักยภาพสูงสุดของมวลมนุษยชาติ”
“สิ่งที่เราเห็นกันแล้วในปัจจุบันก็คือระบบการเมืองการปกครองในปัจจุบัน ไม่สามารถจัดการ
หรือแก้ปัญหาของโลกในศตวรรษที่ 21ได้เลย  เราจำเป็นต้องสร้างระบบการเมืองใหม่ ระบบธนาคารใหม่
ที่สามารถจัดการกับวิกฤตทางการเงินได้ดีกว่านี้ กฏเกณฑ์ใหม่ๆทางการแพทย์ที่จะช่วยคุ้มครองคนไข้
ขณะที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการคิดค้นพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ และระบบประชาธิปไตยใหม่ที่จะให้ความมั่นใจว่า
ตัวแทนของเราจะทำงานเพื่อเราจริงๆ”
ฟังดูแล้วคล้ายๆพรรคการเมืองหนึ่งในบ้านเราเลยนะ..


The Seasteading Institute ก่อตั้งขึ้นในปี 2008 โดย Patri Friedman หลานชาย
ของนักเศรฐศาสตร์ที่ชื่อว่า Milton Friedman จนถึง ธันวาคมปี 2010 องค์กรนี้ได้รับเงิน
สนับสนุนกว่า 1,000,000เหรียญสหรัฐ นำโดย Peter Thiel ผู้ก่อตั้ง PayPal นั่นเอง
สำหรับเมืองขนาดเล็กกลางมหาสมุทรของ Peter Thiel นี้ เขามีทฤษฎี เสรีนิยม ที่ต้องการนำมาใช้
เช่น ไม่ต้องมีสวัสดิการ ไม่ต้องมีค่าแรงขั้นต่ำ (ตรงข้ามกับที่บ้านเรากำลังทำเลย)
เมืองขนาดจิ๋วกลางมหาสมุทรนี้สร้างอยู่บนแท่นขุดเจาะน้ำมันเก่า สามารถเคลื่อนย้ายได้ ขับเคลื่อน
ด้วยเครื่องยนต์ดีเซล 12,000 ตัน แต่ละแท่นอาจจะมีสิ่งปลูกสร้างที่อยู่อาศัยได้ถึง 270 หลัง
และได้มีการวงแผนให้แต่ละแท่นสามารถเชื่อมต่อกันได้เป็นโครงข่ายขนาดใหญ่ คาดว่าเกาะแห่งแรก
ที่จะมีการตั้งรกรากกันเต็มรูปแบบในปี 2019 Peter Thielและ Seasteading Institute
ตั้งเป้าไว้ว่าในปี 2050 จะมีพลเมืองบนเมืองลอยน้ำนี้ถึง 10 ล้านคน
อ่านเรื่องราวเพิ่มเติมของSeasteading ได้ที่  http://seasteading.org/
   



----------------------------------------------------------------------------------------

 สถาปัตยกรรมปกติ และ ที่ว่างที่ผิดปกติ

ผมอยากจะขอเริ่มบทความนี้ จากข้อสงสัยของตัวผมเองเมื่อหลายปีก่อน ตอนสมัยเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรชั้นปีที่ 3 "ทำอย่างไรที่จะทำให้งานออกแบบของผม มีความแตกต่างจากคนอื่นๆ" นั้นคือคำถามเริ่มแรกที่นำไปสู่ประเด็น ที่ผมทำการศึกษาค้นคว้า หาคำตอบต่อมาจนกระทั่งวันนี้
จากคำถามที่ว่า "ทำอย่างไร" ให้แตกต่าง มาสู่คำถามที่ว่า "ทำไม" ต้องแตกต่าง เป็นการย้อนถามตัวเองว่า ถ้าเกิดความแตกต่างแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ทำไมความแตกต่างจึงเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหา เป็นสิ่งที่คนหลายคนไคว้คว้า

1.ความเป็นมาของความแตกต่าง ผมขออนุญาตหยิบยกประวัติศาสตร์ทางความคิดของชาติตะวันตกมาสักนิด ว่า ทำไมคนชาติตะวันตกจึงชื่นชมความงาม ของความแตกต่างอันนี้
แรกเริ่มเดิมทีชนชาติตะวันตกเชื่อว่า พลังและอำนาจ แห่งการสร้างสรรค์ สิ่งต่างๆ มาจากพระเจ้า เป็นของขวัญที่พระเจ้ามอบให้มนุษย์ และที่สำคัญมนุษย์เชื่อว่า พลังนี้ ไม่ได้ดำรงอยู่ในตัวมนุษย์ ยุคนี้ถูกเรียกกันว่า ยุคที่พระเจ้าเป็นศูนย์กลาง (Centric World - God as the centre of Universe)
ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นข้าวของ เครื่องใช้ เครื่องประดับ และแม้กระทั่งงานศิลปะต่างๆ ซึ่งรวมทั้งงานสถาปัตยกรรม จึงถูกใช้เพื่อเป็นสิ่งที่แสดงออกมาเพื่อขอบพระคุณต่อ ของประทานสิ่งนี้

ยกตัวอย่างเช่น ที่ว่างที่ส่งเสริมต่อการเกิดแรงศรัทธาต่อพระเจ้า ที่ว่างที่ศักดิ์สิทธิ์ (Sacred Space) การใช้สถาปัตยกรรมเป็นตัวกลางในการเชื่อมโลกมนุษย์ กับโลกสวรรค์ หรือทำให้มนุษย์รู้สึกตัวเองว่าเป็นเพียงแค่ เม็ดทรายท่ามกลาง ความงดงามของสวนสวรรค์ในงานสถาปัตยกรรมสมัย โกธิค (Gothic Architecture)
อย่างไรก็ตาม แนวความคิดแบบนี้เริ่มเกิดการสั่นคลอน เมื่อมนุษย์ชาวอิตาลี ประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือใหม่สำหรับการ "มองโลก" ให้แก่เพื่อนมนุษย์ เครื่องมือสำหรับการมองโลกแบบใหม่นี้ ถูกนำไปใช้ในการวัดมิติของที่ว่างและมิติของเวลา สามารถแปลงมิติของที่ว่างลงบนแผ่นระนาบได้ นั้นคือรูปภาพแบบ Perspective นี่คือจุดที่หักเหที่ยิ่งใหญ่ต่อกระบวนความคิดของมนุษย์
เพราะ Perspective นอกจากใช้เป็นเครื่องมือที่ใช้มอง และวัดมิติทั้งสี่ของที่ว่างแล้ว ภาพ Perspective ยังเป็นภาพสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงการ "วางสายตามนุษย์ไว้ที่ตำแหน่งตรงศูนย์กลางของการมอง ศูนย์กลางของอำนาจแห่งการสร้างสรรค์ วางแทนที่พระเจ้า" จากพระเจ้าคือศูนย์กลาง คือทุกสิ่ง คือผู้ประทานอำนาจของการคิด การสร้างสรรค์ มาเป็นมนุษย์คือศูนย์กลาง คือผู้กำหนดความคิดของตัวเอง กำหนดจาก "ตา" ของตัวเอง ณ เวลานี้มนุษย์ "เห็น"โลกอย่างที่เขาต้องการเห็น "เข้าใจ"โลกอย่างที่เขาต้องการเข้าใจ "ทำ"โลกให้เป็นโลกอย่างที่เข้าต้องการให้เป็น และที่สำคัญที่สุด ให้โลกมันดำเนินไปอย่างเป็นปกติ
2. การเกิดขึ้นของสังคมแบบปกติ
ภายหลังที่มนุษย์กลายเป็นบุคคลที่ครอบครองทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอำนาจของการสร้างสรรค์ การเข้าใจโลก (จากสายตาของมนุษย์) และการควบคุมการเป็นไปของโลก ผมขออนุญาตนำเสนอแบบจำลองอันหนึ่ง ซึ่งเป็นแบบจำลองของโลก หรือเราอาจจะเข้าใจง่ายกว่า ถ้าใช้คำว่า "สังคมแบบปกติ" ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสังคมที่อยู่ภายใต้ข้อตกลงร่วมกัน อาจจะเป็น ขอบเขต กรอบ กฎเกณฑ์ ของผู้ที่กำหนด หรือผู้ที่มีอำนาจมากำหนด
ดังนั้นการดำเนินไปของสิ่งต่างๆ ถ้าอยู่ภายใต้กรอบ ขอบเขต กฏเกณฑ์ นี้แล้วจะราบรื่นและเป็นไปอย่างเป็นปกติ (Normativity) ซึ่งรวมไปทั้ง การสร้างสรรค์ ด้วยกรอบ ขอบเขต และกฎเกณฑ์ ต่างๆ เหล่านี้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือ ที่ทำให้สังคมของมนุษย์ ดำเนินไปอย่างเป็นปกติ เช่น กฎหมาย ค่านิยมทางสังคม ความนิยมของสังคม โฉนดที่ดิน (หรือสมบัติของผู้ดี ความเป็นกุลสตรีไทย แม้กระทั่ง การไว้ผมยาวของศิลปิน หรือสัญลักษณ์ทางเครื่องแบบและหัวเข็มขัดของนักเรียนช่างกล ช่างศิลป์ ถ้าเรามองพวกเขาอยู่ใน โลกหรือสังคมของพวกเขาเอง ที่มีการกำหนดกรอบหรือ กฎเกณฑ์อะไรบางอย่าง ที่ต่างกับสังคมอื่นๆ)
ความเป็นไปอย่างเป็นปกติ (Familiar Situation) นี้เองเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการหาคำตอบ ของความแตกต่าง เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากการที่คนแต่ละคนในสังคม ดำรงชีพร่วมกันอย่างปกติสุข หรือดำรงชีพอยู่ได้อย่างไม่มีความรู้สึกถึงข้อกำหนด และกฎเกณฑ์ต่างๆ ซึ่งที่จริงแล้ว กฎเกณฑ์ต่างๆ เหล่านี้อยู่ห้อมล้อม รอบตัว และรอบพื้นที่ว่างของคนแต่ละคน ในทุกอย่างก้าว เพียงแต่เราไม่รู้สึกถึงขอบเขตตรงนั้น
ความเป็นไปอย่างเป็นปกตินี้เองจึงเป็นสิ่งที่นักออกแบบ นักคิด และนักปรัชญาหลายๆ ท่าน นำมาเป็นจุดเริ่มที่จะค้นหา "ทางออก" พยายามดิ้นรนให้หนีจาก "กรอบ" เพราะนอกจากจะทำให้คน รู้สึกถึงความมีตัวตนของเขาเอง อย่างที่ Descartes กล่าวว่า "I think therefore I am" เพราะเมื่อเขาคิดเขาจึงรู้สึกตัวตนที่เขามีอยู่ และทำให้คน และสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง เคลื่อนไหว เกิดพลัง
ผมขออนุญาตข้ามคำถามที่ว่า การสร้างความแตกต่างนั้นดี หรือไม่ดี ในช่วงนี้ก่อน เพื่อนำไปสรุปช่วงท้าย อย่างไรก็ตาม คำถามที่น่านำมาวิเคราะห์ และสังเคราะห์ในชัดคือ ทำอย่างไรจึงจะสร้างให้เกิดความแตกต่าง และแตกต่างจากอะไร จุดที่สำคัญที่จะทำให้เกิดกระบวนการนี้อย่างสมบูรณ์ คือ การมองทั้งระบบ เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งบริบท ก่อนที่จะสามารถกำหนดทิศทาง และวิธีการ ที่จะทำให้เกิดความแตกต่างขึ้น
ผมขอยกตัวอย่างจาก งานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (Modern Architecture) ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ในการอธิบายปรากฎการณ์ของความเป็นปกติ และการสร้างความแตกต่าง
3. สังคมสมัยใหม่ปกติ
สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ถือกำเนิดขึ้นราว ศตวรรษที่ 19-20 เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทั้งในวิธีการคิดและการผลิตผลงาน อย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้น คือพิจารณาถึงบริบททั้งหมดของ Modernism (สมัยใหม่นิยม) เพราะนอกเหนือจากบริบททางสังคม การเมือง ซึ่งเป็นตัวสำคัญที่มีผลต่อรูปแบบของที่ว่างทางสถาปัตยกรรม บริบททางชีวิตความเป็นอยู่ วิทยาการ เทคโนโลยี ซึ่งรวมถึงการผลิตวัสดุ อุปกรณ์ต่างๆ ก็เป็นตัวแปรที่สำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงอันนี้
เราอาจจะมองเฉพาะรอยต่อของช่วงสมัย Art Nuvou, Neo Classic กับการเกิดขึ้นของ Modernism ซึ่งในที่นี้ผมขอเสนอภาพซึ่งเป็นสิ่งที่บันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ (Representational History) มาเป็นการดำเนินเรื่องราวของสิ่งที่เกิดขึ้น ณ ช่วงเวลานั้น
3.1 สงคราม
เป็นจุดเริ่มแรกที่ผมอยากจะนำมาเป็นปัจจัยหลักของการเปลี่ยนแปลง เพราะนอกจากสงครามเป็นเครื่องมือสำหรับการทำลายล้างแล้ว สงครามยังเป็นจุดที่สำคัญต่อการเกิดขึ้นของสิ่งใหม่ๆ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของการบริโภคทรัพยากร และเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวลา ซึ่งต้องการความรวดเร็วทั้งการตั้งค่ายรบ ฐานทัพ หรือสภาพบ้านเรือนที่เสียหาย สำหรับผู้คนที่เป็นเหยื่อของสงคราม ความต้องการที่อยู่อาศัยอย่างรีบเร่ง เพื่อป้องกันความหนาวเย็น และสร้างความปลอดภัยต่อตนเอง และครอบครัว จึงเป็นสาเหตุอย่างหนึ่งซึ่งนำถึงความเปลี่ยนแปลงของสถาปัตยกรรมในยุคดังกล่าว
3.2 การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยี และระบบอุตสาหกรรม
การส่งเสริมการผลิตในรูปแบบของ สายการผลิต และการผลิตแบบแยกส่วน การผลิตเหล่านี้ นอกจากจะตอบสนองต่อการสงครามและอุปกรณ์ที่ใช้ในการสงครามโดยตรงแล้ว ยังมีส่วนที่เข้าไปจำกัด และกำจัด ระบบบริโภคแบบอื่นๆ อีกด้วย เช่น ระบบการผลิตแบบเกษตรกรรม ระบบการผลิตในครัวเรือน และการผลิตในลักษณะ Handmade เพราะระบบการผลิตในแบบอุตสาหกรรม เป็นการผลิตสินค้าจำนวนมาก สามารถทำให้เกิดการได้เปรียบทางการค้า และนำไปสู่ระบบ Capitalism และระบบบริโภคนิยม ในที่สุด
3.3 การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรในเมือง การเดินทางเข้ามาหางานทำในเมืองใหญ่
เพราะเมืองใหญ่ นอกจากโอกาสในการที่จะทำเงิน มากกว่าในเมืองเล็กแล้ว เมืองใหญ่ยังถูกใช้เป็นภาพลักษณ์ของความเจริญก้าวหน้า การเปลี่ยนคุณภาพชีวิตให้ทันสมัย หรือดีขึ้น ดังนั้นการเดินทางของคนจำนวนมากเข้ามาในเมืองใหญ่ จึงทำให้เกิดการใช้พื้นที่อย่างหนาแน่น ทั้งของคน และยานพาหนะ อีกทั้งมีการควบคุมและกำหนดพื้นที่อย่างแยบยล ไม่ว่าการแบ่งพื้นที่ทางสังคม หรือพื้นที่ทางสถาปัตยกรรม เช่น การกำหนดที่จอดรถยนต์ พื้นที่ของส่วนบริหารซึ่งไม่อนุญาตให้คนทั่วไปเข้าไปใช้ได้ เป็นต้น
3.4 การยอมรับเอาความงามทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน
ทั้งด้านการทำงาน การผลิต และการพักผ่อนหย่อนใจ ทำให้เกิดการใช้พื้นที่ และกิจกรรมใหม่ๆ อย่างเช่นในรูป โรงหนังกลางแจ้งสำหรับคนขับรถส่วนตัว หรือโรงภาพยนตร์ ทั้งสามมิติหรือไม่สามมิติก็ได้ เป็นการเปลี่ยนแปลงให้การใช้ชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชีวิตในเมืองใหญ่ให้เข้ากับ ระบบการผลิต และระบบการบริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบริโภคเวลาของคนเมืองใหญ่ ซึ่งกลายเป็นทาสของเวลา และบริโภคเวลานี้เองที่กลายมาเป็นการแลกมาของเงิน ดังนั้นเราจึงได้ยินคำพูด บ่อยๆที่ว่า เวลาคือเงิน
อย่างไรก็ตาม ผมอยากที่จะขอสรุปอย่างคร่าวๆ ของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในรอยต่อของยุคสมัยที่เรียกว่า Modernism คือการเกิดขึ้นของคำว่า "มาตราฐาน" (Standardization) ซึ่งเป็นตัวแปรที่สำคัญที่สุดในการ "วัดคุณค่า" ทั้งการผลิตและการบริโภค ไม่ว่าจะเป็นการผลิตให้ได้มาตราฐาน ซึ่งหมายถึงของทุกชิ้นที่ออกมาสู่ตลาด ต้องมีคุณภาพที่ดีเหมือนกันทั้งหมด มาจากมาตราฐานเดียวกัน การได้มาซึ่งมาตราฐานย่อมหมายถึง การได้มาซึ่งชื่อเสียง อำนาจในการต่อรอง การได้เปรียบทางการค้า และท้ายที่สุด คือ เงิน (ผู้บริโภคย่อมต้องซื้อหาสินค้าที่มีมาตราฐาน)
อย่างไรก็ดี การเกิดขึ้นของชนชั้นทางสังคม ก็ถูกกำหนดขึ้นจากมาตราฐานตัวเดียวกันนี้. การสร้างภาพให้ผู้คนพยายามที่จะสามารถครอบครองความมีมาตราฐาน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สบายขึ้น เป็นการเลื่อนขั้นทางสังคมอย่างหนึ่งซึ่ง Modernism สัญญาเอาไว้กับมนุษย์ และในขณะเดียวกันการสร้างมาตราฐาน ก็กลายมาเป็นการสร้างกรอบ หรือระเบียบปฎิบัติต่อสังคม เพื่อให้ดำเนินไปอย่างดี อย่างเป็นปกติ
4. สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ปกติ
เราอาจจะโยงการเปลี่ยนแปลงโดยภาพรวมที่เกิดขึ้นกับรอยต่อของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเทคโนโลยี เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของการใช้สอย และรูปแบบทางสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ยกตัวอย่างเช่น Walter Gropius กับการเกิดขึ้นของสถาบัน Bauhaus, การนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาวัสดุสมัยใหม่ๆ (ในช่วงสมัยนั้น) เช่น เหล็ก และ กระจก, การเกิดขึ้นของตึกสูง และตึกระฟ้า, โครงสร้างขนาดใหญ่ และ Long Span Structure, การนำเอาระบบตารางและพิกัดมาใช้ในการผลิตวัสดุอุปกรณ์ ต่างๆ ในวงการก่อสร้าง, คุณค่าความงามที่ถูกความเรียบง่าย และสะอาดเป็นเครื่องมือใช้วัดความงาม และที่สำคัญ คือการกำหนดค่ามาตราฐานกลางต่างๆ เช่น สัดส่วนของมนุษย์ที่ใช้ มนุษย์สูง 1.80 เมตรในการเป็นต้นแบบ เป็นการสร้างมาตราฐานให้กับคุณค่าของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ที่ถือกันว่า เป็นสถาปัตยกรรมที่มีคุณภาพที่ดี เหมาะสำหรับคุณภาพชีวิตที่ดี
แท้จริงแล้วมาตราฐานของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ก็เริ่มละเลยคุณภาพที่แตกต่าง ซึ่งแตกต่างจาก "มาตราฐาน"ของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ หรือสมัยใหม่นิยม ดังนั้นเราจึงอาจกล่าวได้ว่า สถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้น คือสิ่งที่พยายามทำให้เห็นว่าเป็น "สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ปกติ"
และจากมุมมองนี้ที่เป็นจุดสำคัญต่อวงการนักคิด นักออกแบบทั้งหลาย ที่มองเห็น "กรอบ" หรืออีกนัยคือ มาตราฐานเหล่านี้ ทำให้พวกเขารู้สึกว่า การดิ้นรนหาทางออกจาก กรอบหรือมาตราฐานที่ถูกกำหนดเป็นการท้าทาย การเกิดขึ้นของการเปลี่ยนแปลง (อีกที และอีกที) พยายามทำให้เกิดความไม่ปกติขึ้น มองสิ่งที่เป็นปกติ (หรือถูกทำให้เป็นปกติ) ในมุมมองใหม่ๆ จาก "ตา" ของพวกเขา จากความคิดเห็นส่วนบุคคล และสำหรับผม ทำให้สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ปกติ ให้กลายเป็นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่เกือบปกติ หรือ ผิดปกติ
วิธีการที่ทำให้ความปกติ กลายเป็นความเกือบปกติ หรือผิดปกติ โดยทั่วไปแล้ว ชาวตะวันตกมักจะหยิบยืม ความคิดของนักคิด นักปรัชญา ทั้งหลายมาเป็นเครื่องมือในการมอง ในการคิด คล้ายๆ กับการเลือกหาแว่นตาใหม่ๆ เพราะเมื่อเวลามองจากสายตา ผ่านเครื่องช่วยมองอันนี้ จะทำให้ให้เห็นอะไรต่างๆชัดขึ้น เห็นโลกในมุมใหม่ๆ ในมุมที่เกือบปกติ หรือผิดปกติได้
สำหรับผมแว่นตาที่ผมหยิบมาสวม คือแนวความคิดของ Michel Foucault โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ทฤษฎีที่ว่าด้วยอำนาจและการใช้อำนาจ" (Theory of Power)
5. มุมมองใหม่ผ่านแนวคิด Michel Foucault กับทฤษฎีที่ว่าด้วยอำนาจและการใช้อำนาจ
Foucault ได้มอบเครื่องมือพิเศษสำหรับการเข้าใจ และการเห็นความสัมพันธ์ของอำนาจ ไม่ว่าจะในแง่ของรูปธรรม และนามธรรม. Foucault ได้พัฒนาความคิดของเขาจากความคิดเบื้องต้นของ จิตวิเคราะห์ ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาจาก Simund Freud (Psychoanalysis) เป็นการมองเข้าไปในส่วนรากเหง้าของโครงสร้างทางสังคม ในคู่ความสัมพันธ์ของ อำนาจและความรู้ (Power/Knowledge) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาหาความสัมพันธ์ ของกรอบและผู้ที่อยู่ในกรอบ, ผู้กำหนดและผู้ถูกกำหนด, การควบคุมและการถูกควบคุม, และที่สำคัญคือ การเชื่อมโยงในการใช้อำนาจและที่ว่าง ทั้งทางสังคม และสถาปัตยกรรม ที่จะกล่าวถึงต่อไป
จากการที่ Foucault ได้มองเห็นถึงคู่ความสัมพันธ์ของอำนาจและความรู้ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สังคม และโครงสร้างทางสังคม "ดำเนินไปอย่างปกติ" และพยายามทำให้เกิดโอกาสเข้าไปสั่นคลอนโครงสร้างปกติอันนี้ จากคน หรือ กลุ่มคน ที่อยู่ภายใต้กรอบ หรือ มาตราฐาน ที่ถูกกำหนดเอาไว้แล้ว เริ่มที่จะดิ้นรนหาทางออก หรือพื้นที่ของพวกเขาเอง ทั้งในแง่ พื้นที่ทางนามธรรม (Social Space) และรูปธรรม (Architectural Space)
ยกตัวอย่างเช่นกลุ่มชนกลุ่มน้อยต่างๆ (Minority Groups) กลุ่มคนผิวสี, กลุ่มคนอ้วน, กลุ่มคนที่เป็นผู้หญิง, กลุ่มคนที่เป็นคนรักร่วมเพศ หรือแม้กระทั่งอย่างที่กล่าวมาแล้ว นักเรียนช่างกล ช่างศิลป์ ต่างๆ ซึ่งพยายามสร้างพื้นที่ หรืออาณาเขตทางอำนาจของตัวเอง
Foucault ได้เสนอถึงรูปแบบของการซ้อนทับกันระหว่าง พื้นที่ว่างทางสังคม (Social Space) กับพื้นที่ว่างทางสถาปัตยกรรม (Architectural Space) และในขณะเดียวกันก็เป็นความสัมพันธ์ในทางกลับกัน คือพื้นที่ทางสถาปัตยกรรมเป็นตัวกำหนดพื้นที่ทางสังคม จะเห็นได้ว่ามิติของที่ว่างทั้งสองสิ่งอยู่คู่กัน และส่งผลกระทบต่อซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Panopticon และ Heterotopia (Other Spaces) เป็นตัวอย่างที่สำคัญของแนวความคิดของ Foucault ต่อที่ว่างทางสถาปัตยกรรม
5.1 Panopticon
คือรูปแบบคุกซึ่ง Jeremy Bentham ออกแบบเอาไว้และ Foucault ได้นำมาวิเคราะห์ถึงความสัมพันธ์ระหว่าง มิติของพื้นที่ว่างทางสังคม และมิติของพื้นที่ว่างทางสถาปัตยกรรม ตาม"ทฤษฎีที่ว่าด้วยอำนาจและการใช้อำนาจ" การควบคุมนักโทษ โดยการใช้สายตาของผู้ควบคุมที่ตั้งอยู่ที่จุดศูนย์กลางของคุก ซึ่งหอคอยกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการควบคุม และการใช้อำนาจ เป็นการควบคุมหรือการสร้างกรอบ ทางความคิดและทางจินตนาการต่อนักโทษ ให้รู้สึกว่าตัวเขา กำลังมีคนควบคุมอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะมีคนคุมหรือไม่ก็ตาม เป็นการใช้ที่ว่างทางสถาปัตยกรรมเป็นเครื่องมือ กำหนดมิติที่ว่างทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สังคมของนักโทษ
นอกจากนั้น Panopticism ยังกลายเป็นสัญลักษณ์ของการควบคุมโดยเทคโนโลยี ไม่ใช่แค่นักโทษ แม้แต่คนปกติทั่วไป เราเองก็ถูกควบคุม และสอดส่องโดย กล้อง Surveillance เป็นการเปลี่ยนแปลงทางสัญลักษณ์ของ Panopticism อย่างหนึ่ง. สิ่งซึ่งน่าคิดตรงนี้ก็คือว่า ใครมีอำนาจในการสอดส่อง และควบคุมคนแต่ละคนบนพื้นที่ว่างสาธารณะ. เรากลายเป็นนักโทษโดยไม่ได้รู้ตัว และที่สำคัญทุกอย่างถูกดำเนินไปอย่างเป็นปกติ
5.2 Heterotopia (Other Spaces)
คือแนวความคิดของ Foucault อีกอย่างหนึ่งซึ่งผมอยากจะนำมาเล่าสู่กันฟัง นอกจากที่ Foucault ได้สร้างเครื่องมือในการเชื่อม มิติของพื้นที่ว่างทางสังคม และทางสถาปัตยกรรมเข้าด้วยกันแล้ว ดังที่ยกตัวอย่าง Panopticon. Foucault นำเสนอถึงการควบคุมและจัดการที่ว่างสถาปัตยกรรมที่มีผล ต่อมิติของที่ว่างทางสังคมโดยใช้ แนวความคิดในเรื่อง Heterotopia หรือในอีกชื่อหนึ่งคือ Other Spaces
โดยทั่วไปแล้ว Heterotopia เป็นการนำเสนอถึงการจัดการ การปิดบัง ซ่อนเร้น กลุ่มคนที่มีลักษณะผิดไปจาก มาตราฐาน ปกติ หรือที่อยู่นอกเหนือจากกรอบและมาตราฐานที่จะทำให้ การดำเนินไปของสังคมปกติ เป็นไปอย่างไม่เป็นปกติ ดังนั้น จึงกำหนดให้กลุ่มคนพวกนี้ไปใช้พื้นที่บริเวณริมขอบของพื้นที่ต่างๆ และถูกกำหนดให้ห่างออกจากสังคมปกติ บริเวณที่ห่างไกลจากการมองเห็นของคนปกติทั่วไป พื้นที่เหล่านี้ถูกกำหนด ถูกกรอบให้เป็นพื้นที่ต้องห้าม ห้ามคนที่เป็นปกติก้ำกราย และห้ามก้ำกรายคนปกติ. เป็นพื้นที่สำหรับคนไม่ปกติ คนบ้า คนป่วย หรือ คนคุก คือ โรงพยาบาลโรคประสาท โรงพยาบาล คุก เป็นต้น
พื้นที่เหล่านี้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของการใช้อำนาจ บนพื้นที่ว่าง เป็นการซ้อนทับของมิติทางการใช้อำนาจ ลงไปบนมิติของที่ว่างทางสังคม และบนมิติของที่ว่างทางสถาปัตยกรรม ทำให้เกิดเป็น ที่ว่างที่ไม่ปกติ หรือที่ว่างที่ผิดปกติ (Other Spaces) นอกจากพื้นที่ต่างๆ เหล่านี้ที่ถูกใช้เป็นที่ตั้ง ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล โรงพยาบาลโรคประสาท หรือคุก แล้ว แนวความคิดของ Foucault ในเรื่อง ที่ว่างที่ไม่ปกติ (Other Spaces ) ยังมีความหมายครอบคลุมลงไปในทุกๆ ส่วนของสังคม หรือหน่วยเล็กที่สุดของสังคม คือ คนและร่างกายของคน
ไม่ว่าจะเป็น ความดี-ความเลว, ความสว่าง-ความมืด, ความฉลาด-ความโง่, ความสวยงาม-ความน่าเกลียด, ผู้ชาย-ผู้หญิง, คนผอม-คนอ้วน, รักต่างเพศ-รักร่วมเพศ, และคู่ความสัมพันธ์ของโครงสร้างสังคมแบบปกติ ที่ทาง"สถาบัน"ต่างๆ เป็นผู้กำหนดให้ ไม่ว่าจะเป็น สถาบันทางการศึกษา, สถาบันทางศิลปะ, สถาบันทางการเงิน, หรือ สถาบันครอบครัว เป็นต้น ดังนั้นความหมายของ Other Spaces จึงเป็นการเรียนรู้จากกรอบ "กรอบของความปกติ" ซึ่งมักจะถูกกำหนดขึ้นจาก "สถาบัน" (Institution and Institutionalized Power) ให้เกิดความปกติ เรียบร้อย ในการเข้าใจความสัมพันธ์ของโครงสร้างกลไกทางสังคม และสามารถมองเห็นการใช้อำนาจนั้นบนพื้นที่ว่าง ไม่ว่าจะเป็นไปในรูปของ พื้นที่ว่างทางสังคม หรือ พื้นที่ว่างทางสถาปัตยกรรม
เป็นการเข้าใจถึงความสัมพันธ์อันซับซ้อนของโครงสร้างทั้งสอง และเป็นการหาช่องว่างสำหรับกลุ่มคนที่อยู่ภายใน"กรอบ"ที่พวกเขาจะมีโอกาสสร้างมาตราฐาน ของพวกเขาเอง มีที่ว่างสำหรับตัวของเขา หรือกลุ่มของพวกเขาเอง ไม่ใช่ที่ว่างที่ถูกคนอื่นกำหนดขึ้น หรือสร้างให้. การเกิดขึ้นของกลุ่มนักคิดในแนวนี้ เช่น Feminine Theory, Queer Theory, Oriental and African Studies,
ส่วนในทางสถาปัตยกรรม Other Spaces หรือการทำให้เห็นถึงความแตกต่าง และเปิดโอกาสให้เกิดความแตกต่างทางสถาปัตยกรรม ไม่ใช่แค่การทำให้เกิดความแตกต่างทาง รูปทรง และรูปร่าง เช่นการใช้รูป Curve หรือเส้นโค้งต่างๆ ทำให้เกิดรูปทรงที่ผิดแผก แตกต่างจากระบบโครงสร้างปกติ เช่น เสาคาน ระบบพิกัดต่างๆ
ในมุมหนึ่งอาจจะสามารถพูดได้ว่า นั้นคือการทำให้เกิดความแตกต่าง แตกต่างจากสิ่งที่มีคนเคยทำมา แต่ในความมุ่งหมายของตัวผม Other Spaces คือการเข้าใจถึงหัวใจของ ความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นปกติทั่วไป ซึ่งมักจะเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดขึ้น เป็นค่ามาตราฐานในสังคม แม้กระทั่งความงาม และสถาปัตยกรรม กับการทำให้เกิดความผิดปกติ หรือไม่ปกติขึ้นกับสถาปัตยกรรม ซึ่งเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์กันระหว่าง มิติทางสังคม และมิติทางสถาปัตยกรรมเข้าด้วยกัน ไม่ใช่นำเอา สถาปัตยกรรม แยกตัวออกจากมิติทางสังคม
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสังคมไทย ซึ่งผมขออ้างถึงข้อเขียนของ อาจารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ซึ่งเขียนไว้ว่า "กระบวนความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย เกิดขึ้นในลักษณะการพัฒนาแบบพึ่งพาอาศัย ทั้งจากพื้นฐานที่เก็บสะสมมา ไม่ว่าจะเป็น ประวัติศาสตร์, วัฒนธรรม, ศาสนา, รวมถึง เศรษฐกิจ, และการเมือง ซึ่งเป็นการพัฒนาวิธีคิดความหมายของการสร้างความแตกต่าง ที่ต่างออกไปจากวิธีคิดของชาวตะวันตก ที่เน้นมาจากความคิดริเริ่มของแต่ละบุคคลเป็นใหญ่ (Individuality)
ดังนั้น คำถามที่ผมข้ามไปตอนกลางของบทความ ที่ว่า "การเกิดความแตกต่างขึ้นดี หรือไม่ดี" สามารถตอบ ณ ที่นี้ คือ
ถ้าเราสร้างความแตกต่างจากความคิดริเริ่มส่วนบุคคล ฝ่ายเดียว โดยไม่สนใจคนรอบข้างว่าเป็นอย่างไร คิดเห็นอย่างไร หรือ สัมพันธ์กับปัจจัยอื่นๆ อย่างไร เราก็ยังไม่สามารถหนีจาก "กรอบใหญ่" ที่สุดของสถาบันได้ นั่นคือ White-Male (Heterosexual) World คือโลกของผู้ชายผิวขาวชาวตะวันตก ซึ่งเป็นที่มาของการสร้างกรอบต่างๆ ที่ใช้เป็นมาตราฐานของสังคมปกติ เรื่อยๆมา ซึ่งนานและยากต่อการเข้าไปแก้ไขเปลี่ยนแปลง
อย่างไรก็ตาม ถ้าเราสามารถพัฒนาโดยการพึ่งพาอาศัย จาก มิติที่ว่างทางสังคม ไปสู่มิติอื่นๆ รวมทั้ง มิติที่ว่างทางสถาปัตยกรรมได้ นี่อาจจะเป็นการริเริ่มสร้างความแตกต่าง สำหรับการหนีออกจาก "กรอบใหญ่ที่สุด" อันนี้ ไปสู่การสร้างความแตกต่างอย่างสมบูรณ์แบบ สร้างสถาปัตยกรรมที่ไม่ปกติขึ้น ในโลกของสถาปัตยกรรมที่เป็นปกติตามสายตาของ ชาวตะวันตกได้
ผู้เขียน  :  สันต์  สุวัจฉราภินันท์   คณะสถาปัตยกรรม มช.
ขอบคุณข้อมูลจากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน :  http://61.47.2.69/~midnight/fineartcmu2001/newpage23.html

Ring Around a Tree สถาปัตยกรรมที่ปลูกฝังให้เด็กผูกพันกับธรรมชา


‘Ring Around a Tree’ เป็นแนวคิดของ Tezuka Architects ที่พยายามเพิ่มพื้นที่แห่งใหม่ให้เด็กๆ ได้ใช้สอยกัน ผลงานชิ้นนี้ตั้งอยู่ในโรงเรียนประถม Fuji Yochien โรงเรียนเอกชนในโตเกียว ซึ่งโรงเรียนแห่งนี้ก็เป็นผลงานออกแบบของ Tezuka เช่นเดียวกัน
Ring Around a Tree เป็นอาคารเปิดโล่งล้อมรอบต้นไม้ใหญ่ ให้เด็กๆ สามารถมาวิ่งเล่นไปตามบันไดซึ่งได้ออกแบบเอาไว้อย่างเรียบง่าย ทว่าเหมาะกับการปีนป่าย ซึ่งช่วยให้เด็กๆ ได้เคลื่อนไหว สร้างความสนุกสนาน รู้สึกถึงการผจญภัย และที่สำคัญ ความที่อาคารแห่งนี้สร้างล้อมรอบต้นไม้ขนาดใหญ่เอาไว้ ก็ยังทำให้เด็กๆ ได้สัมผัสและรู้จักธรรมชาติอย่างใกล้ชิด ผ่านกิ่งก้านสาขาของต้นไม้ที่แผ่ขยายมาเป็นร่มเงากล่อมเกลาจิตใจให้ผ่อนคลายและอ่อนโยน นอกจากนั้นแล้วอาคารแห่งนี้ยังได้จัดพื้นที่ส่วนหนึ่งกั้นเป็นห้องล้อมรอบด้วยกระจก เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนการสอนหรือการทำกิจกรรมต่างๆ ได้อีกด้วย
อยากให้โรงเรียนในบ้านเมืองเรามีแบบนี้บ้างจัง!
   
ทีมา: www.portfolios.net

โฮมสเตย์บ้านแม่กำปอง ภูมิปัญญาตามวิถีชีวิตของชุมชน


บ้านแม่กำปอง กิ่งอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ท่ามกลางหุบเขาและมีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี ชาวบ้านมีอาชีพปลูกเมี่ยง ทำไร่ และทำส่วนกาแฟ จึงทำให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปชื่นชมความงดงามอย่างไม่ขาดสาย ปริมาณนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทำให้ชาวบ้านเกรงว่าอาจส่งผลกระทบต่อชุมชนในอนาคต
        โดยเฉพาะวัฒนธรรมภายนอกที่เข้ามาพร้อมกับนักท่องเที่ยว จากสิ่งที่เกิดขึ้นจำเป็นต้องมีกระบวนการป้องกันปัญหา เพื่อให้คนในหมู่บ้านและนักท่องเที่ยวได้ตระหนักถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติต่อไป พร้อม ๆ กับการอนุรักษ์วัฒนธรรมของคนในชุมชน โดยใช้กระบวนการวิจัยโครงการ รูปแบบการจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แบบยั่งยืน บ้านแม่กำปอง หมู่ 3 ตำบลห้วยแก้ว กิ่งอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ 
            หลังสิ้นสุดกระบวนการวิจัย ชาวบ้านสามารถรวบรวมพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ พืชสมุนไพร ไม้ดอกที่มีคุณค่าอย่าง ”ดอกเอื้องดิน” ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญาตามวิถีชีวิตของชุมชน รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพของคนในชุมชน  นอกจากนั้นยังนำเอาองค์ความรู้ไปต่อยอดพัฒนาไปสู่รูปแบบการท่องเที่ยวภายใต้การจัดการของคนในชุมชนอย่างเป็นระบบ ที่ประกอบด้วย กิจกรรมทางการท่องเที่ยว โปรแกรมและรูปแบบการท่องเที่ยว กฎระเบียบข้อบังคับการท่องเที่ยวของชุมชน คณะกรรมการด้านการท่องเที่ยว การบริหารจัดการทรัพยากรทางการท่องเที่ยวของชุมชน เน้นการกระจายรายได้ และผลประโยชน์ที่ลงสู่ชุมชนอย่างสมดุลย์
โรงเรียนแนวใหม่

"บ้านแม่กำปอง" หมู่บ้านงามกลางหุบเขา

"บ้านแม่กำปอง" หมู่บ้านเล็กๆ ท่ามกลางหุบเขาในกิ่งอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ก็ถือเป็นหมู่บ้านโอทอปแห่งหนึ่งที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นหมู่บ้าน OTOP Village Champion

ก่อนที่จะได้รับคัดเลือกให้เป็นหมู่บ้าน OTOP Village Champion หมู่บ้านแม่กำปองก็เป็นที่รู้จักในเรื่องของการเป็นหมู่บ้านโฮมสเตย์ที่น่าสนใจแห่งหนึ่ง โดยหมู่บ้านนี้ได้รับการการันตีด้วยตราสัญลักษณ์โฮมสเตย์มาตรฐานไทย ที่นักเดินทางสามารถมั่นใจในคุณภาพเมื่อเดินทางไปเยือนเมื่อปี พ.ศ.2547 ที่ผ่านมา

พรมมินทร์ พวงมาลา อดีตผู้ใหญ่บ้านแม่กำปอง จังหวัดเชียงใหม่ ผู้ริเริ่มจัดทำบ้านแม่กำปองให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เล่าถึงเรื่องการจัดทำโฮมสเตย์ในหมู่บ้านให้ฟังว่า ได้เริ่มต้นทำมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 สมัยที่ตัวเองมาเป็นผู้ใหญ่บ้าน โดยได้มีความคิดอยากให้มีเรื่องการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เนื่องจากเห็นว่าที่หมู่บ้านมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว มีต้นทุนทางธรรมชาติ ทั้งอากาศ ป่าไม้ และน้ำตกที่มีความสูง 7 ชั้น จึงได้ขอความร่วมมือจากชาวบ้านให้ร่วมกันพัฒนาน้ำตกและบริเวณหมู่บ้านให้สะอาด และจัดทำเป็นโฮมสเตย์ขึ้น จนมาถึงปัจจุบันก็มีบ้านที่เข้าร่วมโครงการโฮมสเตย์ 10 หลังคาเรือน และสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 50-60 คน ด้วยกัน

ด้วยสภาพภูมิประเทศของหมู่บ้านแม่กำปองที่ตั้งอยู่ในหุบเขา ท่ามกลางภูเขาล้อมรอบแทบทั้งสี่ด้าน ทำให้หมู่บ้านแม่กำปองมีอากาศเย็นสบาย ค่อนข้างหนาวในฤดูหนาว และมีทัศนียภาพที่สวยงาม ชาวบ้านอยู่กันแบบเรียบง่าย บ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้สะอาดเรียบร้อย จัดที่หลับที่นอนให้แก่ผู้มาเยือนได้พักผ่อนอย่างสบายแต่ก็ไม่ทิ้งวิถีชีวิตของชาวบ้าน เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวที่แนะนำกันแบบปากต่อปาก

กิจกรรมในชุมชนบ้านแม่กำปองที่นักท่องเที่ยวจะได้มีส่วนร่วมนั้นก็น่าสนใจเช่นกัน โดยจะมีทั้งการท่องเที่ยวดูวิถีชีวิตของชุมชน ดูการเก็บใบชา ใบเมี่ยง การทำเมี่ยง การทำสมุนไพร การปลูกกาแฟ ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวบ้าน และหากนักท่องเที่ยวอยากจะชมการแสดงฟ้อนหรือการแสดงดนตรีพื้นเมืองก็สามารถทำได้เช่นกัน รวมทั้งในตอนเช้าก็จะมีการทำบุญตักบาตรร่วมกับเจ้าของบ้านอีกด้วย

ทางด้านแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ภายในหมู่บ้านก็ยังมี "น้ำตกแม่กำปอง" ซึ่งมีสายน้ำไหลตลอดทั้งปี มีความสูง 7 ชั้นด้วยกัน บนชั้นที่ 7 มีแอ่งน้ำสามารถลงเล่นน้ำได้ นอกจากนั้นก็ยังมีเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติ ทั้งระยะใกล้และไกล โดยระยะไกลนั้นจะสามารถเดินขึ้นถึง "ดอยม่อนล้าน" ยอดเขาที่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,700 เมตร ในวันที่อากาศดีจะสามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้ทั้ง 3 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง

นอกจากนั้นบนยอดดอยม่อนล้านก็ยังมีสวนสน สวนสมเด็จย่า และลานของศูนย์พิทักษ์ป่าซึ่งสามารถกางเต็นท์พักแรมชมบรรยากาศบนยอดดอยได้ และที่น่าสนใจก็คือ ในช่วงฤดูหนาวประมาณเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม ต้นพญาเสือโคร่งหรือต้นซากุระเมืองไทยก็จะออกดอกสีชมพูบานสะพรั่งสวยงามมากทีเดียว

พรมมินทร์ ยังได้กล่าวถึงความเป็นไปในหมู่บ้านว่า วิถีชุมชนของชาวบ้านก็เรียกได้ว่าอยู่อย่างพอเพียง ปลูกผลผลิตทางการเกษตรกินกันเอง เพราะหมู่บ้านอยู่ในหุบเขา ค่อนข้างห่างไกลจากตลาด และภายในชุมชนก็มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันแบบพี่น้อง มีน้ำใจไมตรีให้กัน

ด้วยเหตุนี้ ทั้งความน่าสนใจในวิถีชีวิตความเป็นอยู่ รวมทั้งสินค้าโอทอปที่มีคุณภาพและมีเอกลักษณ์ ทำให้หมู่บ้านโฮมสเตย์แม่กำปอง ได้รับคัดเลือกให้เป็นหมู่บ้านหัตถกรรมเพื่อการท่องเที่ยวซึ่งมีความโดดเด่นทั้งในเรื่องของวิถีชีวิต และผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

โฮมสเตย์บ้านแม่กำปอง ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 3 ตำบลห้วยแก้ว กิ่งอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ค่าใช้จ่ายในการพักโฮมสเตย์
-2 วัน 1 คืน อาหาร 3 มื้อ ราคา 550 บาท/คน
-3 วัน 2 คืน อาหาร 6 มื้อ ราคา 900 บาท/คน
หลังจากนี้คิดรายวัน อาหาร 3 มื้อ วันละ 350 บาท รวมทั้งมีบ้านพักให้เช่าเป็นหมู่คณะ ตั้งแต่ 100-1,200 บาท หากต้องการนอนเต็นท์ ค่าเช่าเต็นท์ราคา 150-200 บาท ถ้านำเต็นท์มาเอง คิดค่าบำรุงสถานที่ 50 บาท/คน สอบถามรายละเอียดได้ที่ หมู่บ้านแม่กำปอง โทร.0-5331-5111, 08-9559-4797 อบต.ห้วยแก้ว (บ้านแม่กำปอง) 0-5393-9409

การเดินทางไปยังบ้านแม่กำปอง สามารถใช้เส้นทางเชียงใหม่-สันกำแพง ทางหลวงหมายเลข 1317 ขับออกจากตัวเมืองด้านน้ำพุร้อนสันกำแพงประมาณ 50 ก.ม. ขับตรงมาจนถึงกิ่งอำเภอแม่ออน รวมระยะทางจากสามแยกทางเข้าน้ำพุร้อนสันกำแพงมาถึงหมู่บ้านแม่กำปอง 18 ก.ม.
www.manager.co.th









    

กฎหมายวิชาชีพ ความเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบวิชาชีพและองค์กรที่เกี่ยวข้อง


สืบเนื่องจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ.2543 แทน พระราชบัญญัติวิชาชีพสถาปัตยกรรม พ.ศ.2508โดยเปลี่ยนบทบาท 
           การควบคุมการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมจากกระทรวงมหาดไทย โดย คณะกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม(ก.ส.) มาเป็นองค์กร "สภาสถาปนิก" ซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และจากการประกาศใช้กฎกระทรวงควบคุมการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม 4 สาขา เมื่อปี พ.ศ.2542 ในชื่อเรียก "กฎกระทรวงฉบับที่ 9 พ.ศ.2542" ซึ่งได้ประกาศให้วิชาชีพสถาปัตยกรรมประกอบไปด้วย 4 สาขาคือ สาขาสถาปัตยกรรมหลัก สาขาสถาปัตยกรรมผังเมือง สาขาภูมิสถาปัตยกรรม และสาขาสถาปัตยกรรมมัณฑนศิลป์ และในปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนมาเป็น "กฎกระทรวงกำหนดวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม พ.ศ. 2549"* ออกตาม พระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ.2543** และ กฎกระทรวงฯ พ.ศ.2549 ยังคงประกอบไปด้วย 4 สาขาวิชาชีพสถาปัตยกรรมเหมือนเดิม เพียงแต่ได้เปลี่ยนชื่อสาขา "สถาปัตยกรรมมัณฑนศิลป์" เป็น "สถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์" โดยที่ในปัจจุบันกำลังอยู่ในระหว่างกระบวนการร่างกฎหมายในระดับ "ข้อบังคับ" ออกมาเพื่อให้กฎหมายหลักสามารถบังคับใช้ได้
* อ้างอิงจาก http://www.coa.or.th/download/document/ministerial-vocation.pdf
** อ้างอิงจาก http://www.coa.or.th/download/law/020101.pdf
กฎหมายวิชาชีพที่กล่าวถึงข้างต้น (กฎกระทรวงกำหนดวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม พ.ศ. 2549) ในทางปฏิบัติเมื่อประกาศใช้แล้ว ผู้ที่ประกอบวิชาชีพในสาขาใดๆตามระบุในกฎกระทรวงจะต้องเป็นผู้ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพในสาขานั้นๆ โดยมีระยะเวลาผ่อนผันตามบทเฉพาะกาลให้ผู้ที่ยังไม่มีใบอนุญาตฯยื่นขอใบอนุญาตได้ภายในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งกฎหมายนี้ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2549 มีสาระสำคัญในส่วนของสาขาสถาปัตยกรรมภายในฯระบุนิยามของสาขา ไว้ดังนี้
-"สาขาสถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์" หมายความว่า วิชาชีพสถาปัตยกรรมที่ใช้ศาสตร์และศิลป์ในการออกแบบเพื่อสร้างสรรค์องค์ประกอบทางกายภาพและสภาพแวดล้อมภายในอาคาร
-งานสาขาสถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์ คืองานสำหรับพื้นที่ภายในอาคารสาธารณะที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 500 ตารางเมตรขึ้นไป
-มีขอบเขตงาน 5 ลักษณะคือ "งานศึกษาโครงการ งานออกแบบ งานบริหารและอำนวยการก่อสร้าง งานตรวจสอบ และงานให้คำปรึกษา"
ผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมภายในหรือมัณฑนศิลป์ในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสภาสถาปนิกโดยผ่านทางสมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย ในช่วงปี พ.ศ.2543 ไปแล้ว และส่วนหนึ่งก็ได้ยื่นขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมสำหรับสาขาสถาปัตยกรรมภายในหรือมัณฑนศิลป์ไปแล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 เป็นต้นมา โดยมีจำนวนปรากฏในทะเบียนของสภาสถาปนิกดังนี้ ระดับวุฒิสถาปนิก 158 คน ระดับสามัญสถาปนิก 131 คน และระดับภาคีสถาปนิก 148 คน (ข้อมูล ณ ปี พ.ศ. 2549) สำหรับขั้นตอนการขอใบอนุญาตในปัจจุบันจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนดังนี้

1. สมัครเป็นสมาชิกสภาสถาปนิก ในประเภทสมาชิกสามัญ โดยที่บุคคลนั้นๆต้องมีคุณวุฒิการศึกษาที่สภาสถาปนิกรับรอง
เมื่อได้รับการประกาศให้เป็นสมาชิกสภาสถาปนิกแล้วจึงดำเนินการขั้นตอนยื่นขอรับใบอนุญาตฯต่อไป
2. ยื่นขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม สาขาสถาปัตยกรรมภายในมัณฑนศิลป์ เมื่อได้รับการประกาศให้เป็นสมาชิกสภาสถาปนิกแล้ว ให้ปฏิบัติดังนี้

-ผู้ที่สำเร็จการศึกษาก่อนปี พ.ศ.2546 ให้ยื่นขอโดยใช้ระเบียบข้อบังคับเดิมได้ (ข้อบังคับสภาสถาปนิก ว่าด้วยการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม ระดับภาคีสถาปนิก ระดับสามัญสถาปนิก และระดับวุฒิสถาปนิก สาขาสถาปัตยกรรมผังเมือง สาขาภูมิสถาปัตยกรรม และสาขาสถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์ พ.ศ. 2545)*** ซึ่งมีสาระสำคัญในเชิงคุณสมบัติคือ จำนวนปีประสบการณ์ เช่น ถ้าสำเร็จการศึกษาแบบหลักสูตร 5 ปี ยื่นระดับวุฒิสถาปนิกต้องมีประสบการณ์มาแล้ว 13 ปี หรือ ระดับสามัญสถาปนิกต้องมีประสบการณ์มาแล้ว 5 ปี เป็นต้น ทั้งนี้ยังต้องยื่นผลงาน****ตามจำนวนที่สภาสถาปนิกกำหนดประกอบ
*** อ้างอิงจาก http://www.coa.or.th/download/law/010210.pdf
**** อ้างอิงจาก http://www.coa.or.th/services02_info03d.html

-ส่วนผู้ที่สำเร็จการศึกษาหลังปี พ.ศ.2546 ให้ยื่นขอโดยใช้ระเบียบข้อบังคับใหม่ได้ (ร่างข้อบังคับสภาสถาปนิก ว่าด้วยหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม ระดับภาคีสถาปนิกพิเศษ ระดับภาคีสถาปนิก ระดับสามัญสถาปนิก และระดับวุฒิสถาปนิก พ.ศ.......) ซึ่งเป็นร่างข้อบังคับที่ผ่านการลงมติจากที่ประชุมใหญ่วิสามัญสภาสถาปนิก ครั้งที่ 1/2550 เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2550 แล้ว และกำลังอยู่ในขั้นตอนเสนอกระทรวงมหาดไทย เพื่อประกาศใช้ต่อไป ซึ่งในสาระสำคัญคือ จะต้องผ่านการทดสอบและอบรมตามระเบียบที่สภาสถาปนิกกำหนด (สามารถดูรายละเอียดได้จากเอกสารประชุม http://www.coa.or.th/download/news500119-02.pdf หน้า 52)

-ส่วนผู้ที่สำเร็จการศึกษาในสาขาใกล้เคียง/เทียบเท่า ตามที่สภาสถาปนิกได้ร่างระเบียบข้อบังคับ ให้กับผู้ที่มีคุณวุฒิการศึกษาใกล้เคียง/เทียบเท่า และนำเข้าที่ประชุมใหญ่วิสามัญสภาสถาปนิก ครั้งที่ 1/2550 ไปเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2550 แล้วนั้น ปรากฎว่าร่างข้อบังคับนี้ไม่ผ่านมติของที่ประชุม เนื่องจากในร่างขอบังคับนี้มีประเภทของคุณวุฒิและคุณสมบัติหลายอย่าง เช่นคุณวุฒิข้ามสาขา อนุปริญญา ปริญญาที่สูงกว่าปริญญาตรี คุณวุฒิเทียบเท่า สมาชิกมีความเห็นหลากหลายและไม่สามารถทำความเข้าใจได้ทั้งหมด จึงต้องนำกลับไปพิจารณาแก้ไขร่างข้อบังคับนี้ใหม่ ขณะนี้จึงยังไม่สามารถยื่นขอรับใบอนุญาตฯได้ โดยทางสมาคมมัณฑนากรฯได้ดำเนินการในเรื่องนี้ให้กับผู้ที่มีคุณวุฒิการศึกษาใกล้เคียง/เทียบเท่า มาตั้งแต่เริ่มมีสภาสถาปนิก และพยายามผลักดันให้ร่างข้อบังคับนี้ผ่านความเห็นชอบของสภาสถาปนิกต่อไป (สามารถดูรายละเอียดได้จากเอกสารประชุม http://www.coa.or.th/download/news500119-02.pdf หน้า 61)

องค์กรที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบันองค์กรวิชาชีพและวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์ มีดังนี้
1. สภาสถาปนิก เป็นองค์กรตามกฎหมายพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ.2543 มีอำนาจและหน้าที่ในการควบคุมดูแลการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมสาขาต่างๆ เช่นการออกใบอนุญาตฯ การรับรองปริญญาและคุณวุฒิการศึกษา รับรองความรู้ความชำนาญ การออกข้อบังคับต่างๆเพื่อนำมาปฏิบัติใช้กับสภาสถาปนิก จรรยาบรรณวิชาชีพ เป็นต้น (ดูอำนาจหน้าที่ได้จากhttp://www.coa.or.th/download/law/020101.pdf) ดังนั้นผู้ที่ประกอบวิชาชีพหรือกำลังจะประกอบวิชาชีพทางสถาปัตยกรรมสาขาต่างๆจึงต้องเกี่ยวข้องกับสภาสถาปนิก (http://www.coa.or.th) โดยตรง
2. สมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรวิชาชีพของนักวิชาชีพสถาปนิกภายใน หรือ มัณฑนากร หรือ นักออกแบบตกแต่งภายใน ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2531 เป็นการรวมกลุ่มของนักวิชาชีพที่กล่าวถึงข้างต้น โดยอยู่ภายใต้กฎหมาย "ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์" (บรรพ1 หลักทั่วไป ลักษณะ2 บุคคล หมวด2 นิติบุคคลส่วนที่2 สมาคม มาตรา 78-109) โดยมีวัตถุประสงค์และบทบาท เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติวิชาชีพของสมาชิก ด้วยการเป็นตัวแทนของสมาชิกในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เช่น เป็นผู้แทนในองค์กรควบคุมวิชาชีพสถาปัตยกรรม การจัดการเสริมสร้างความรู้และพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่องให้กับสมาชิก การจัดหารายได้เพื่อประโยชน์ขององค์กรในการจัดกิจกรรมต่างๆ การติดต่อสร้างความสัมพันธ์กับองค์กรวิชาชีพในสาขาเดียวกันในระดับนานาชาติ และกับองค์กรวิชาชีพสาขาที่เกี่ยวข้องในระดับประเทศและนานาชาติ การจัดกิจกรรมสร้างสัมพันธ์และความสามัคคีในหมู่สมาชิก ดังนั้นนอกจากเราจะมีสภาสถาปนิกซึ่งทำหน้าที่ตามกฎหมายวิชาชีพแล้ว สมาคมยังเป็นองค์กรวิชาชีพที่จะสนับสนุนสมาชิกในส่วนอื่นๆ และควรที่จะเสริมสร้างองค์กรในระดับสมาคมให้มีความก้าวหน้าต่อไป เพื่อประโยชน์ทั้งต่อสมาชิกเอง ต่อสังคม สาธารณะและประเทศชาติ
3. สภาวิชาการสถาปัตยกรรมภายในและออกแบบภายในแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรวิชาการของภาควิชาและสาขาวิชาจากสถาบันระดับอุดมศึกษาที่มีการเรียนการสอนในสาขาวิชาสถาปัตยกรรมภายในและออกแบบภายใน เริ่มก่อตั้งและดำเนินการเมื่อปีการศึกษา 2544 ปัจจุบันมีสมาชิกจากสถาบันการศึกษาระดับอุดมศิกษาจำนวน 16 แห่ง มีการจัดกิจกรรมต่างๆในด้านการบริการวิชาการ การวิจัย ข่าวสารและด้านอื่นๆตามวัตถุประสงค์ของสภาวิชาการฯเป็นประจำทุกปี โดยมีการประชุมใหญ่ทางวิชาการ การอบรมเชิงปฏิบัติการ การจัดนิทรรศการผลงาน การปัจฉิมนิเทศรวม และกิจกรรมอื่นๆที่เกี่ยวเนื่อง โดยเจ้าภาพและประธานสภาฯจะมีการหมุนเวียนกันจัด ตามลำดับของการก่อตั้งภาควิชา ทั้งนี้องค์กรดังกล่าวนี้จะเป็นผู้สนับสนุนวิชาชีพสถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์ในอีกด้านหนึ่ง เช่น การเข้าร่วมวางแผนการพัฒนาระบบการศึกษา กำหนดนโยบายในการรับรองคุณวุฒิการศึกษา และการส่งบุคลากรผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเป็นอนุกรรมการด้านการศึกษาให้กับทางสภาสถาปนิก การส่งบุคลากรเข้าร่วมสนับสนุนการดำเนินการของสมาคมมัณฑนากรและสมาคมวิชาชีพอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
จะเห็นได้ว่ากฎหมายวิชาชีพนอกจากจะเป็นการกำหนดรูปแบบของการควบคุมการประกอบวิชาชีพแล้ว ยังต้องมีองค์กรวิชาชีพ และการพัฒนาองค์กรวิชาชีพทั้งองค์กรหลัก และองค์กรสนับสนุน รวมถึงองค์กรทางด้านวิชาการ ซึ่งองค์กรต่างๆจำเป็นที่จะต้องประสานการทำงานและหาแนวทางในการพัฒนาในด้านต่างเข้าด้วยกันเพื่อให้วิชาชีพก้าวหน้าเป็นประโยชน์ต่อสังคม สาธารณะและประเทศชาติ ตามหลักการ เหตุผล และวัตถุประสงค์ในการออกกฎหมายวิชาชีพต่อไป ในส่วนของผู้ประกอบวิชาชีพนั้นทางองค์กรที่เกี่ยวข้องก็ยังต้องมีกระบวนการในการดำเนินการเพื่อให้ท่านได้ประกอบวิชาชีพต่อไป โดยการออกระเบียบข้อบังคับต่างๆอีกเป็นจำนวนมาก อาจจะต้องใช้เวลาในขั้นตอนต่างๆบ้าง เนื่องจากความซับซ้อนและความหลากหลายและจากการที่เพิ่งจะเริ่มมีกฎหมายบังคับใช้ได้ไม่นาน ผู้ประกอบวิชาชีพควรที่จะรับรู้ข่าวสารจากองค์กรต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการประกอบวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง

ตามติดบ้านคนดัง เลดี้ กาก้า LADY GAGA

forfur ขอเกาะกระแสคนดังเอาใจเหล่าสัตว์ประหลาดตัวน้อยๆของเจ้าหญิงก้าหรือ ลิตเติ้ลมอนสเตอร์ (little monster) ไปดูกันซิว่าบ้านของหัวหน้าของเหล่าปีศาจตัวน้อยมีรูปร่างหน้าตายังไง



บ้านขนาด 6 ห้องนอน 8 ห้องน้ำของกาก้าหลังนี้ตั้งอยู่ที่ Bel-Air หรือย่านที่พักของบรรดาเหล่าเศรษฐีทั้งหลายบนภูเขา Westside เมือง Los Angeles ใหญ่โตมโหฬารขนาดนี้แต่เป็นเพียงแค่บ้านพักชั่วคราวเวลากาก้าเดินทางมา Hollywood เท่านั้น โดยเธอควักกระเป๋าจ่ายเดือนละ $25,000 หรือประมาณเดือนละ 800,000 บาทนั่นเอง



 

สถาปัตยกรรมแนวธรรมชาติ



natural_arch          สถาปัตยกรรมแนวธรรมชาติ (Natural Architecture)
          : ทิศทางใหม่ด้านการวางผังและออกแบบอาคารในอนาคต 
             New Directions of Planning and Building Design
                 ในรอบสิบกว่าปีมานี้ ภาวะโลกร้อนและภัยพิบัติธรรมชาติ เป็นปัญหาวิกฤติที่อยู่ในความสนใจ ของผู้คนทั่วไป เพราะผลกระทบรุนแรงทางลบที่เกิดขึ้นต่อชีวิต ทรัพย์สิน และความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วโลก ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างเริ่มตระหนักถึงปัญหาวิกฤติดังกล่าว และมีการรณรงค์หาแนวทางการลดภาวะโลกร้อนและการประหยัดพลังงานกันอย่างจริงจังมากขึ้น
                    ทั้งนี้ ในวงการสถาปัตยกรรม และการวางผังเมืองทั้งของต่างประเทศและของไทย ต่างก็มีความตื่นตัว และหันมาสนใจสร้างสรรค์งานออกแบบในแนวความคิด “สถาปัตยกรรมแนวธรรมชาติ” “สถาปัตยกรรมเขียว” “สถาปัตยกรรมเชิงนิเวศ” มากขึ้นเช่นกัน โดยสาระใหญ่คือการมุ่งเน้นการ วางผังเมือง ผังชุมชน การออกแบบและก่อสร้างอาคารที่กลมกลืน เป็นมิตรกับธรรมชาติ ระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เนื่องจากเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยทำให้ชีวิตการอยู่อาศัยมีคุณภาพมากขึ้น ประหยัดพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ กับทั้งสามารถช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนได้เป็นอย่างดี
                  1. นวัตกรรมจากการเลียนแบบความหลากหลายและความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ
                      ใครก็ตามที่ท่องเที่ยวไปในโลกกว้าง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งในป่า และในเมือง จะมองเห็นทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ คิดค้นและสร้างสรรค์ขึ้นอย่างหลากหลายมากมายสุดคณานับ ทั้งที่เป็นอาคารบ้านเรือน อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ ยานพาหนะ ศิลปกรรม วัดวาอาราม พระราชวัง ป้อมปราการ สิ่งก่อสร้างและนวัตกรรมอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วนทั้งที่ใหญ่โตโอฬารและ สวยงามอลังการน่ามหัศจรรย์ อันเป็นผลมาจากการสะสมภูมิปัญญาทางศิลปะ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของมนุษย์ กระนั้นก็ตาม หากใครได้หันมามองสิ่งรอบตัวและครุ่นคิดพิจารณาอย่างจริงจังในธรรมชาติทั้งหลายตั้งแต่พระอาทิตย์ ดวงดาว แม่น้ำลำธาร สายฝนสายหมอก น้ำตก ขุนเขาหุบเหว ป่าไม้ ต้นไม้นานาพรรณ สัตว์ป่านานาชนิด ทะเล ธรณี ลม ไฟ ฤดูกาล แร่ธาตุ ภูมิลักษณ์และภูมิทัศน์ธรรมชาติที่หลากหลายซับซ้อนแล้ว ก็คงอดที่จะทึ่งและฉงนสนเท่ห์ในความงาม ความยิ่งใหญ่ ความแปลกประหลาด และมหัศจรรย์ของธรรมชาติหลากหลายเหล่านี้ไม่ได้  แม้มนุษย์จะศึกษาเรียนรู้ ธรรมชาติและมีความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์มากขึ้นตามลำดับ กระนั้น ก็ยังไม่สามารถศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติได้หมด ธรรมชาติยังคงมีความลึกลับซับซ้อนที่มนุษย์ยังไม่เข้าใจและศึกษาได้หมดสิ้นและมนุษย์ยังไม่สามารถเอาชนะธรรมชาติ ได้จริง ด้วยเหตุที่ชีวิตทั้งพืช สัตว์ และ ภูมิสัณฐานธรรมชาติ ได้มีวิวัฒนาการ มานานนับร้อยล้านปี ทำให้เกิดการ พัฒนาโครงสร้างหรือกลไกการทำงาน ที่ซับซ้อนหรือวิเศษยิ่งกว่าเทคโนโลยี รุ่นล่าสุดที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้น เช่น กระบวนการสังเคราะห์แสงของพืช การ ถักใยของแมงมุมที่ใช้พลังงานหรือ ก่อให้เกิดของเสียออกมาน้อยมาก การสร้างรังของนกและปลวก เป็นต้น
                     ดังนั้น การศึกษาเรียนรู้และเลียนแบบเทคโนโลยีจากธรรมชาติ (Biomimicry) จึงเป็นเป้าหมายสำคัญของการสร้าง นวัตกรรมทั้งหลายที่ได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติ และหากเราพิจารณาให้ถ่องแท้ ก็จะพบว่าสิ่งประดิษฐ์คิดค้นทั้งหลายจำนวนมากของมนุษย์ที่ผ่าน มานั้น ต่างก็เกิดขึ้นจากการลอกเลียนแบบสิ่งมีชีวิต ในธรรมชาติ เพราะธรรมชาติเกิดขึ้นนำหน้ามาก่อน  แม้ในอดีตการออกแบบทางสถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม และการวางผังเมืองและชุมชน สถาปนิกก็ได้แนวคิดหรือแรงบันดาลใจจากธรรมชาติเป็นอย่างมากและในอนาคต สถาปนิกก็จะต้องศึกษาเรียนรู้และเข้าใจระบบนิเวศและเรียนรู้จากธรรมชาติมากขึ้น อีกทั้งรูปทรง โครงสร้างและกระบวนการขององคาพยพทั้งหลาย
                   2. มนุษย์กับการพึ่งพาอาศัยธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
                    มนุษย์จัดเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งในโลกที่มีวิวัฒนาการมาอย่างยาวนาน กระนั้น ก็นับเป็นองคาพยพหรือเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติด้วย การมีชีวิตและการดำรงอยู่ ของมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตาย ต่างก็อาศัยพึ่งพาธรรมชาติทั้งน้ำเพื่อการดื่มกิน อากาศ เพื่อการหายใจ อาหารเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิต เครื่องนุ่งห่มเพื่อกันลมร้อนลมหนาว และแม้การปลูกสร้างอาคารบ้านเรือนหรือสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ก็ต้องอาศัยวัสดุและพลังงาน ที่เกิดขึ้นในธรรมชาติทั้งสิ้น ธรรมชาติขั้นมูลฐาน (มหาภูตรูป 4) คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ยังคงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดของธรรมชาติอื่นหรือสิ่งประดิษฐ์อื่นๆ ที่มนุษย์ สรรค์สร้างขึ้นมานานาชนิด มนุษย์ในยุคแรกเริ่มหรือในชุมชนบรรพกาล ต่างอยู่อาศัยแบบพึ่งพา ธรรมชาติ อาศัยอยู่ในถ้ำ ในหุบเขา ในป่าในโพรงไม้ อาศัยแม่น้ำลำคลอง เก็บกินดอกผลของต้นไม้ และอาศัยล่าสัตว์ในธรรมชาติเพื่อการดำรงชีพเท่านั้น และมนุษย์ ในยุคแรกต่างพากันเคารพนับถือธรรมชาติที่เป็นดิน น้ำ ลม และไฟ หรือมีความเกรงกลัวต่อพลังอำนาจของธรรมชาติ จนต้องมีการเคารพบูชาเทพเจ้าแห่งธรรมชาติทั้งหลาย อาทิเช่น พระแม่ธรณี พระแม่คงคา พระอัคคี พระวาโย เป็นต้น ต่อมา เมื่อมนุษย์มีจำนวนมากขึ้น มีการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน มีการถางป่า ทำไร่ทำนา ทำการเกษตร ก็ต้องอาศัยดิน น้ำ และฝนฟ้า อากาศในฤดูกาลต่างๆ เป็นมูลฐาน ต่อเมื่อมนุษย์มีความโลภมากขึ้น มีการเห็นแก่ตัวสูงขึ้น จึงเกิดการปักปันอาณาเขต ตั้งชุมชน ตั้งเมือง ตั้งประเทศและขยาย อาณาจักรมากขึ้น การใช้ประโยชน์จาก ธรรมชาติและการค้าขายก็มีมากขึ้น มีการสะสมความมั่งคั่งและทรัพย์สิน เงินทองเพิ่มขึ้น ประดิษฐ์คิดค้นเครื่องอำนวยความสบายแก่ชีวิตมากขึ้น เห็นแก่ตัวมากขึ้น ลุ่มหลงในวัตถุนิยม และบริโภคนิยมมากขึ้น การทำลายธรรมชาติก็เริ่มมีมากขึ้นตามลำดับ
                    3. ปัญหาการทำลายธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมของมนุษย์
                       ความโลภและความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ (Ego-centric) ที่มุ่งความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุและการสะสมทรัพย์สินเงินทองเป็นหลัก มีมาตลอดนับหลายร้อยหลายพันปี และด้วย แนวคิดที่ถือเอามนุษย์เป็นใหญ่และเป็นศูนย์กลางสรรพสิ่ง (Anthropocentric view) มนุษย์จึงมีความพยายามจะเอาชนะและครอบงำธรรมชาติ กอบโกย จากธรรมชาติ สะสมทรัพย์สินเป็นของตนให้ได้มากที่สุด วิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีก็มีการพัฒนาขึ้น เพื่อรับใช้กิเลสตัณหาของตนมากขึ้นตามลำดับ ความแปลกแยกจากธรรมชาติจึงเริ่มมีมากขึ้น จนกระทั่งมาถึงโลกสมัยใหม่ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 16-18 โลกตะวันตก ได้พัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ก้าวหน้ามากที่สุดในโลก และเกิดแนวความคิดเชื่อมั่นในเทคโนโลยี (Technocentrism) กระทั่งต่างพากัน เชื่อว่าสิ่งประดิษฐ์คิดค้นทางวิทยา- ศาสตร์และเทคโนโลยี จะสามารถเอาชนะธรรมชาติได้ทุกอย่าง กระทั่ง เมื่อโลกเข้าสู่ศตวรรษที่ 19-20 ที่เป็นยุคเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีประชาธิปไตย รุ่งเรือง จึงมีการพัฒนาเทคโนโลยี อุตสาหกรรมและการค้าอย่างรวดเร็ว จนเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ที่อุตสาหกรรม และพาณิชยกรรมข้ามชาติเกิดขึ้น การ ใช้ประโยชน์ธรรมชาติ การเบียดเบียนธรรมชาติ การทำลายธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมจึงเกิดขึ้นมากเป็นทวีคูณ ปริมาณการใช้น้ำมัน ถ่านหิน น้ำ แร่ธาตุ ไม้ และทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ในโลกมีปริมาณมากขึ้นและสิ้นเปลืองอย่างก้าวกระโดด โดยที่มีการบุกรุกทำลายป่าไม้ มีการถ่ายของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม และการใช้สารเคมีเพื่อการเกษตร ที่สร้างปัญหามลพิษทั้ง ทางดิน น้ำและอากาศ ส่งผลให้เกิดการ เสียสมดุลในระบบนิเวศของโลก ส่งผล ต่อปัญหาโลกร้อนและภัยพิบัติธรรมชาติ ตามมาทั้งแผ่นดินไหว อุทกภัย วาตภัย และโรคภัยระบาดที่รุนแรง ซึ่งกำลังเป็น ปัญหาวิกฤติที่อยู่ในความสนใจของผู้คนทั่วโลกในบัดนี้ ปัจจุบันปัญหาการทำลายธรรมชาติและระบบนิเวศของโลก ปัญหา โลกร้อน และปัญหามลภาวะของโลก ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ คุณภาพ ชีวิตและสวัสดิภาพการอยู่อาศัยของ ประชาชนทั่วโลก และกำลังจะทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ หากทุกฝ่ายมิได้มีการตระหนักรู้และเร่งหามาตรการแก้ไขโดยเร็ว ภาวะวิกฤติก็จะทวีความรุนแรงที่เป็นภยันตรายต่อมวลมนุษย์มากขึ้นอีกจนยากจะกอบกู้ได้
                    4. แนวความคิดด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเชิงระบบนิเวศ
                      ความจริงแล้ว แนวความคิดด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (Eco-centric) มีมานานตั้งแต่สมัยโบราณหรือยุคชุมชนบุพกาลหลายพันปีมาแล้ว ตั้งแต่มนุษย์ยังอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างเป็นมิตรผสมกลมกลืน ไม่เบียดเบียนทำลายธรรมชาติ กับทั้งยังเคารพบูชาเทพเจ้าและภูตผีเทพารักษ์ที่สิงสถิตใน ธรรมชาติ ดิน น้ำ ลม ไฟ ป่าไม้ พระอาทิตย์ ดวงดาว เป็นต้น โดยเชื่อว่าธรรมชาติ ทั้งหลายก็มีจิตวิญญาณสิงสถิตอยู่ (Animism) และนับถือเทพหรือเทพีทั้งหลาย ที่เป็นเจ้าในธรรมชาติเหล่านี้ (Polytheism) หรือเชื่อว่าเทพเจ้าสิงสถิตอยู่ทั่วไป ในธรรมชาติและสรรพสิ่งทั้งปวง (Pantheism) ซึ่งแนวคิดเหล่านี้ นับว่าเป็นแนวคิด พื้นฐานทางจิตวิทยาเชิงนิเวศ (Green psychology หรือ Eco-psychology) หรือ จริยธรรมสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่สุด ยิ่งไปกว่านั้น ศาสดาและเมธาจารย์ทั้งหลาย ในอดีต เช่น พระพุทธเจ้า เล่าจื๊อ พระเยซู นักบุญ นักบวช หรือฤาษีชีไพรทั้งหลาย ก็ล้วนแต่เห็นคุณค่าของธรรมชาติและสอนแนะในการอนุรักษ์ธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระพุทธเจ้า ศาสดาของศาสนาพุทธนั้น อาจได้ชื่อว่าเป็น “บิดาแห่งนิเวศวิทยาโลก” เนื่องจากมีคำสอนมากมายที่เน้น การไม่ทำลายธรรมชาติและเป็นมิตรกับธรรมชาติ  อนึ่ง เกือบทุกศาสนาในโลกนี้ ก็ล้วนแต่มีคำสอนที่ให้มนุษย์เคารพ ธรรมชาติทั้งสิ้น ดังนั้น เพื่อการส่งเสริม การอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มิให้ถูกบุกรุกทำลายมากขึ้น ในปี 1990 ผู้นำศาสนาต่างๆ จึงได้ร่วมมือกันจัดตั้ง องค์กรระหว่างประเทศขึ้นชื่อ “พันธมิตร แห่งวงการศาสนาและการอนุรักษ์ สิ่งแวดล้อม” (Alliance of Religions and Conservation – ARC) ขึ้น โดยมี 11 ศาสนาเข้าร่วมกิจกรรมขององค์กรนี้
                      แม้ในสมัยใหม่ที่โลกตะวันตก เข้าสู่ยุคทุนนิยมเสรีประชาธิปไตย อุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมแพร่หลายเฟื่องฟู ก็ยังมีนักปราชญ์และผู้รู้ ทั้งหลายที่มองเห็นและตระหนักถึงโทษ ภัยของโลกวัตถุนิยมและการบริโภคที่ หรูหราฟุ่มเฟือยที่ทำลายธรรมชาติ ไม่ว่า จะเป็นนักปรัชญา เช่น St. Francis และ Spinoza กลุ่มศิลปินนักคิดนักเขียน เช่น Shelly และ Blake ที่ย้ำความงดงาม แห่งธรรมชาติ ในขณะที่ Henry David Thoreau ได้ให้ความสำคัญกับการใช้ ชีวิตที่ประหยัดเรียบง่าย เป็นมิตรกับ ธรรมชาติและป่าดงพงไพร หรือจิตรกร อย่าง Gestave Goult และ William Turner ที่ชี้ให้เห็นถึงภูมิลักษณ์ธรรมชาติที่กำลังถูกทำลายโดยระบอุตสาหกรรม ทุนนิยม  หรือนักธรรมชาติวิทยา ผู้ยิ่งใหญ่ เช่น John Muir ที่ทำการ รณรงค์ให้รัฐบาลออกกฎหมายพิทักษ์ รักษาป่าไม้และภูมิสัณฐานที่มีเอกลักษณ์ โดดเด่นทางธรรมชาติมิให้ถูกบุกรุกทำลาย จนนำไปสู่การออกกฎหมายจัดตั้ง อุทยานแห่งชาติในสหรัฐฯ หลายแห่ง และเป็นแรงบันดาลใจสู่การจัดตั้งอุทยาน แห่งชาติหรือวนอุทยานในยุโรปและ ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก
                       แม้ใน ประเทศไทยเรา นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล ก็ได้เป็นผู้นำผลักดันกฎหมายการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติจนสำเร็จเมื่อปี พ.ศ. 2504 เพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ ป่าไม้ และระบบนิเวศมิให้ถูกบุกรุกทำลาย  ในส่วนแวดวงวิชาการ ก็ได้มีการพัฒนา องค์ความรู้ด้านนิเวศวิทยา การอนุรักษ์ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีนักธรรมชาติวิทยาหรือ นักนิเวศวิทยาด้านต่างๆ เกิดขึ้นจำนวน มากมายในหลายประเทศ เช่น Alexander Humboldt นักชีววิทยาชาวเยอรมันผู้ได้ ชื่อว่า “Father of ecology - บิดาแห่ง วิชานิเวศวิทยา” นักชีววิทยาชาวเดนมาร์ก ชื่อ Eugen Warming (1841-1924) ผู้ได้ชื่อว่าเป็น “Founder of ecology - ผู้วางรากฐานวิชานิเวศวิทยา” และ นักชีววิทยาชาวอเมริกันชื่อ Eugene Odum ผู้ได้ชื่อว่าเป็น “Father of modern ecology - บิดาแห่งวิชานิเวศวิทยาสมัยใหม่” อนึ่ง ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองและยุคหลัง อุตสาหกรรมทุนนิยมเฟื่องฟู ระบบนิเวศ และสภาพแวดล้อมด้านต่างๆ ทั้งป่าไม้ และสัตว์ป่าถูกทำลายเสียหายอย่างหนัก มลภาวะในน้ำและอากาศทวีความ รุนแรงมากขึ้น ทำให้เกิดขบวนการ รณรงค์ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ที่เข้มข้นมากขึ้น โดยมีนักอนุรักษ์ที่ โดดเด่นหลายท่าน อาทิเช่น Rachel Carson ที่เขียนหนังสือ “Silent Spring” อันลือชื่อเมื่อปี ค.ศ. 1962 และการรณรงค์ อย่างจริงจังด้านการต่อสู้โลกร้อน ของ Al Gore ในช่วง 10 กว่าปีมานี้ เป็นต้น นอกจากนี้ ก็มีการจัดงาน “Earth Day” เพื่อรณรงค์ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติของโลกมา ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970 และมีองค์กรต่างๆ มากมายที่รณรงค์ด้านการอนุรักษ์ป่า สัตว์ป่า และธรรมชาติแวดล้อม ด้านน้ำ และภูมิอากาศ เช่น The Sierra Club, The National Audubon Society, The Wilderness Society, The National Wildlife Federation, Earth First, Green Peace, The U.S. Green, United Nations เป็นต้น
                    5. ขบวนการขับเคลื่อนสถาปัตยกรรมแนวธรรมชาติ (Natural Architecture Movement)
                        ภาวะโลกร้อนแล ะวิกฤติธรรมชาติ กำลังส่งผลกระทบใกล้ตัว เข้ามาทุกขณะทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จึงต่างพยายามหามาตรการลดภาวะโลกร้อนและการประหยัดพลังงานกัน อย่างจริงจังมากขึ้น รวมทั้งในวงการ สถาปัตยกรรมด้วย ทั้งนี้ เพราะการวางผังเมือง การออกแบบและก่อสร้าง อาคาร เป็นปัจจัยหนึ่งที่สามารถช่วยลด ภาวะโลกร้อน และลดการใช้พลังงาน ได้เป็นอย่างดี ดังนั้น เมื่อไม่กี่ปีมานี้ จึงเกิดแนวความคิดใหม่และกระแสความเคลื่อนไหวด้านการออกแบบ และก่อสร้างอาคารที่เน้นเรื่องคุณภาพ ของชีวิต การประหยัดทรัพยากรและ พลังงาน การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือการเป็นองคาพยพที่ผสมกลมกลืน กับธรรมชาติและระบบนิเวศมากขึ้น ภายใต้ชื่อและจุดเน้นต่างๆ กัน ได้แก่
“สถาปัตยกรรมแนวธรรมชาติ” (Natural Architecture) “สถาปัตยกรรม เขียว” (Green Architecture) “สถาปัตยกรรมเชิงนิเวศ” (Ecological Architecture) “สถาปัตยกรรมเชิงสิ่งแวดล้อม” (Environmental Architecture) “สถาปัตยกรรมแนวชีวภาพ” (Organic Architecture) และ “สถาปัตยกรรมยั่งยืน” (Sustainable Architecture) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หากมองย้อนหลัง ไปประมาณ 100 ปีที่ผ่านมา จะเห็น ได้ว่ามีบุคคลในแวดวงสถาปัตยกรรม หลายท่านที่ได้พยายามเสนอแนวความคิดด้านการออกแบบที่เป็นมิตร กับสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถาปนิกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของโลก ในศตวรรษที่ 20 คือ Frank Lloyd Wright (1867 - 1959) ได้ชี้ให้เห็น ถึงความสำคัญของการออกแบบ อาคารที่ใช้วัสดุธรรมชาติให้มากที่สุด      
                     องค์ประกอบอาคารต่างๆ มีการผสาน กลมกลืนและเป็นองคาพยพหนึ่งเดียว กับธรรมชาติ ทำเลที่ตั้งและสภาพ ภูมิทัศน์โดยรอบ มิใช่แยกตัวออกจาก ธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมโดยรอบ อย่างเป็นเอกเทศ  ที่เรียกแนวคิด ทางสถาปัตยกรรมนี้ว่า “Organic architecture” ดังตัวอย่างผลงาน ออกแบบบ้านชื่อ The Fallingwater ที่โด่งดังของเขา แนวคิดนี้นับว่าเกิดขึ้น ก่อนที่คำว่า “ecology - นิเวศวิทยา” จะเป็นที่รู้จักแพร่หลายเสียอีก แม้ว่า แนวคิดก้าวหน้าของแฟรงค์ ลอยด์ ไรท์ จะได้รับความสนใจจากกลุ่มสถาปนิก ในหลายประเทศ แต่ที่สุดก็ต้องหลีก ทางให้กับแนวคิดสถาปัตยกรรมสาย กระแสหลักที่เน้นการสนองตอบความ ต้องการทางธุรกิจและเศรษฐกิจการค้า ยุคทุนนิยม ในศตวรรษที่ 20 ที่มีพลังอิทธิพลมากกว่า อย่างไรก็ตามเมื่อโลกก้าวสู่ ช่วงต้นศตวรรษที่ 21 กระแสความ เคลื่อนไหวด้านการออกแบบอาคาร ที่พยายามเชื่อมโยงอาคารเข้ากับ ธรรมชาติ โดยเน้นเรื่องการประหยัด พลังงาน การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การผสมกลมกลืนระหว่างอาคาร มนุษย์ ธรรมชาติและระบบนิเวศ ที่เรียกชื่อว่า “สถาปัตยกรรมแนวธรรมชาติ” (Natural Architecture) เริ่มถูกจุด กระแสขึ้นมาอีก โดยที่ความจริงแล้ว แนวคิดนี้ เริ่มก่อตัวมาตั้งแต่ปลาย ทศวรรษ 1960 จากการขับเคลื่อนของ กลุ่มศิลปินที่เน้นสร้างผลงานศิลปะ แนววิวทิวทัศน์และสุนทรียศิลป์ จากลักษณะของธรรมชาติด้านต่างๆ ที่ เรียกว่า “Land art movement” จากแนวคิดและความชื่นชมในศิลปะแนวธรรมชาติ ได้ขยายตัวและก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวด้านการออกแบบและ สถาปัตยกรรมแนวธรรมชาติที่เชื่อมโยง มนุษย์กับธรรมชาติมากขึ้น แนวคิดมูลฐานของขบวนการใหม่นี้คือหลักการที่ว่า มนุษย์ควรจะอยู่ร่วมกับธรรมชาติ อย่างผสานกลมกลืนกับธรรมชาติ ใช้ประโยชน์จากธรรมชาติตามความจำเป็น ในขณะเดียวกันก็ตระหนักในความสำคัญของธรรมชาติต่อการดำรงชีพของมนุษย์ ซึ่งผลจากการยอมรับ และชื่นชมในความงามและความน่าพิศวงในธรรมชาติ (respect and appreciation for nature) ดังกล่าว สะท้อนออกมาในผลงานทางสถาปัตยกรรมแนวธรรมชาติในหลากหลายมิติ เช่น มีความเรียบง่าย ใช้วัสดุธรรมชาติ จากท้องถิ่น ใช้แรงงานท้องถิ่น ออกแบบ รูปทรงและโครงสร้างที่เลียนแบบธรรมชาติ เป็นมิตรกับธรรมชาติรอบ ด้าน (nature friendly) ทั้งพืชพรรณ ภูมิลักษณ์ แหล่งน้ำและภูมิอากาศ ซึ่งมิใช่เพียงการไม่ทำลายธรรมชาติ รอบด้านเท่านั้น หากอาคารที่รังสรรค์ขึ้นนั้น พยายามใช้ทรัพยากรธรรมชาติ อย่างประหยัด และตัวอาคารจะเป็นองค์ประกอบที่ประสานกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียว กับธรรมชาติแวดล้อมนั้นด้วย ดังเช่น Sim Van Den Ryn ผู้ก่อตั้ง The Ecological Design Institute เขียนในหนังสือ Ecological Design เมื่อปี ค.ศ. 1996 ว่า “การออกแบบเชิงนิเวศ เป็นรูปแบบการออกแบบที่พยายามลดผลกระทบทาง ทำลายต่อสภาพแวดล้อม โดยการรวมประสานการออกแบบที่เข้ากับกระบวนการของธรรมชาติ การรวมประสานนี้ จะหมายถึงการออกแบบที่เคารพต่อความ หลากหลายทางชีวภาพ ลดการทำลายทรัพยากร อนุรักษ์วัฏจักรน้ำ รักษาคุณภาพ การอยู่อาศัย และคำนึงถึงความมีสุขภาพที่ดีของมนุษย์และระบบนิเวศ”
                     นอกจากนี้ Brett Holverstott ผู้เขียนเรื่อง What Can Architecture Learn From Nature? กล่าวว่า “สถาปนิกทั้งหลายสนใจในการเลียนแบบและประยุกต์ธรรมชาติ มิใช่เพียง การหาวิธีการใหม่ในด้านการก่อสร้างอาคารเท่านั้น หากแต่เป็นการแสวงหาแหล่ง กำเนิดแห่งแรงบันดาลใจในการแสดงออกทางสุนทรียภาพ และมีอยู่หลายกรณี ที่การเลียนแบบธรรมชาติก่อให้เกิดการออกแบบและสร้างอาคารที่มีประสิทธิภาพสูง มีความคงทน ใช้พลังงานและวัสดุทรัพยากรที่น้อยลง”  และ Maria Lorena Lehman สถาปนิกผู้เคยสอนที่ Harvard University Graduate School of Design กล่าวไว้ในบทความ “Biomimicry: Architecture Inspired By Nature” ตอนหนึ่งว่า “นักออกแบบเกือบทั้งหมด จะได้ประโยชน์จากการศึกษาแง่มุมบาง ด้านจากธรรมชาติ ....ธรรมชาติสามารถ สอนเราได้ในเรื่องระบบ วัสดุ กระบวนการโครงสร้าง และสุนทรียภาพ ดังนั้น โดยการศึกษาให้ลึกซึ้งมากขึ้นถึงวิธีการ ที่ธรรมชาติแก้ปัญหาที่เราต้องเผชิญ ในเวลานี้ เราก็อาจจะมีวิธีการแก้ปัญหา และการค้นพบแนวทางใหม่ๆ ในการ สร้างสิ่งแวดล้อมของอาคารที่ดีขึ้นได้ และในฐานะสถาปนิก เราสามารถก่อ ประโยชน์จากการเลียนแบบธรรมชาติ เพื่อสร้างสรรค์อาคารที่ดีขึ้น โดยวิธีการ ที่มีลักษณะธรรมชาติ การผสมผสาน ความหลากหลาย การเพิ่มประสิทธิภาพ และสุขภาพการอยู่อาศัยมากขึ้น”
สถาปนิกและนักธรรมชาติวิทยา ยุคใหม่ที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดัน และส่งเสริมแนวความคิด “สถาปัตย- กรรมแนวธรรมชาติ” ยังมีอีกหลาย ท่านที่โดดเด่น ได้แก่ ศาสตราจารย์ Alessandro Rocca แห่งสถาบัน Milan Polytechnic ผู้เขียนหนังสือชื่อ “Natural Architecture” ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 2007 ที่นำเสนอผลงานสถาปัตยกรรมแนวธรรมชาติที่น่าสนใจถึง 66 โครงการ จากสถาปนิก 18 ท่าน (เช่น Patrick Dougherty, Nils-udo, Ex. Studio,Edward Ng เป็นต้น)
                    อนึ่ง สถาปนิกแนวนิเวศวิทยา ชาวอังกฤษชื่อ David Pearson ผู้เขียนหนังสือชื่อ “In Search of Natural Architecture” เมื่อปี ค.ศ. 2005 ได้ สืบสาวแนวคิดของสถาปัตยกรรมแนว ธรรมชาติตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน กับทั้งนำเสนอผลการสำรวจอาคารจาก ทั่วโลกที่อาศัยแนวความคิดใหม่ที่ให้ความสำคัญกับผลกระทบของงาน สถาปัตยกรรมต่อสภาพแวดล้อมทาง ระบบนิเวศที่สะอาด (environmentally clean) รวมทั้งสุขภาพทางกายและ จิตใจที่ดีของมนุษย์ (spiritually healthy) นอกจากนี้ Stephen Kellert ศาสตราจารย์ด้านนิเวศวิทยาสังคมแห่ง มหาวิทยาลัยเยล ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “Biophilic Design: The Theory, Science, and Practice of Bringing Buildings to Life” และเรื่อง “Reconnecting with Nature Through Green Architecture” เมื่อปี ค.ศ. 2009 โดยได้เน้นย้ำความสำคัญของโลก ธรรมชาติในการออกแบบและก่อสร้าง อาคารว่ามีผลต่อคุณภาพการอยู่อาศัย และสุขภาพที่ดีของมนุษย์ เขาเห็นว่า อาคารต้องมีหน้าต่างรับลมมากขึ้น ใช้ แสงธรรมชาติ รับอากาศบริสุทธิ์ มีพื้นที่ ปลูกต้นไม้และสวน และใช้วัสดุธรรมชาติ มากขึ้น นอกจากนี้ ในระยะไม่กี่ปีมานี้ ยังมีหนังสือสถาปัตยกรรมในแนว เน้นธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีก มากมาย เช่น (2000) David Pearson’s New Organic Architecture: The Breaking Wave (2001), Deborah Gans’s The Organic Approach to Architecture (2003), Javier Senosiain’s Bio-Architecture (2003) Eugene Tsui’s Evolutionary Architecture (2006) Alan Hess’s Organic Architecture: The Other Modernism (2006), Museum Zurich’s Nature Design : From Inspiration to Innovation (2007), Phillip Jodidio’s Green Architecture Now ! (2009), เป็นต้น อนึ่ง เมื่อปี ค.ศ. 2008 James Wines อดีตคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ผู้ก่อตั้งสถาบัน “SITE Environmental Design” ที่ นิวยอร์ก ได้เขียนหนังสือที่น่าสนใจยิ่งชื่อ “Green Architecture” ที่สืบสาวประวัติ ความเป็นมาของปรัชญาเชิงนิเวศและสถาปัตยกรรมเขียวตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยท่านได้ตอกย้ำความสำคัญของงานสถาปัตยกรรมและการอยู่อาศัยในเมืองที่เป็นมิตรและผสมกลมกลืนกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุค ศตวรรษที่ 21 ที่ปัญหาวิกฤติธรรมชาติด้านต่างๆ ทวีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้ James Wines ได้ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มสถาปัตยกรรมเชิงนิเวศในอนาคตหลาย ประการ เช่น บ้านจะมีขนาดที่เล็กลง การใช้วัสดุก่อสร้างที่สามารถนำมาหมุนเวียนใช้ใหม่ได้ การใช้วัสดุก่อสร้างที่ประหยัดพลังงานในการผลิตและการขนส่ง การใช้ไม้ ที่ปลูกได้เองในท้องถิ่นแทนที่ไม้จากป่าธรรมชาติหรือจากต่างแดน การใช้น้ำอย่าง ประหยัดหรือหมุนเวียนมาใช้ใหม่ได้ การออกแบบที่ทำให้การบำรุงรักษาต่ำ การรักษาสภาพแวดล้อมมิให้มีของเสียเกิดขึ้นและการเพิ่มความร่มรื่นเขียวชอุ่ม การประหยัดพลังงานไฟฟ้าและการใช้พลังงานจากธรรมชาติทดแทนมากขึ้น ทั้งจาก แสงอาทิตย์ พลังลมและน้ำ เป็นต้น นอกจากนี้ James Wines ยังได้ชี้ให้เห็น
ผลงานของสถาปนิกแนวเน้นธรรมชาติหลายท่าน อาทิเช่น
               soft-and-hairy-house  1) บ้าน “Soft and Hairy House” โดยสถาปนิก Ushida Windley ที่สร้าง เมื่อปี ค.ศ. 1994 ที่เมือง Tsukuba City ใกล้กรุงโตเกียว เป็นอาคารเชิงนิเวศที่หลังคาเป็นลานสวนต้นไม้ ให้ความร่มรื่น มีการควบคุมความเย็นสบายภายในอาคาร Soft and Hairy House, Tsukuba City
                  2) บ้าน “Underhill” ที่ออกแบบโดย Arther Quarmby ที่สร้างที่เมือง Yorkshire ประเทศอังกฤษเมื่อปี ค.ศ. 1974 เป็นบ้านแนวอิงแอบพสุธา (Earthsheltered house หรือ Geotecture) โดยสร้างลึกลงไปจากเนินเขาถึง 4.8 เมตร ด้านบนเป็นหลังคาที่ปกคลุมด้วยต้นไม้ผสมกลมกลืนกับภูมิทัศน์รอบด้าน ทำให้ ภายในอาคารมีอุณหภูมิเย็นสบายตลอดปี โดยที่มีการใช้พลังงานน้อยมากและ
                  3) กลุ่มบ้าน “Nine-Houses” โดย Peter Vetsch ที่เมือง Dietikon ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่สร้างบริเวณ เนินเขาปกคลุมอาคารด้วยดินธรรมชาติ สร้างรายรอบสระน้ำ ส่วนกลางโครงสร้าง ภายในเป็นแบบอุโมงค์ดินที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และใช้แสงธรรมชาติ เป็นหลัก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ความตื่นตัวในการ ออกแบบสถาปัตยกรรมในแนวเน้นธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เรียกกันว่า “สถาปัตยกรรมเขียว” (Green Architecture) ได้รับการขับเคลื่อนให้เกิดผลทางปฏิบัติอย่างจริงจังจากบทบาทของสหรัฐฯ มาตั้งแต่ ค.ศ. 2000 ในการกำหนด หลักเกณฑ์การประเมินอาคารเขียว หรือ LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) ที่เน้นปัจจัย 6 ด้านหลัก ได้แก่ ความยั่งยืนของที่ตั้ง ประสิทธิภาพการใช้น้ำ พลังงานและบรรยากาศ ทรัพยากรและวัสดุ สภาพแวดล้อม ภายในอาคาร และนวัตกรรมอาคารและการออกแบบ ซึ่งหลักเกณฑ์ของ LEED ได้รับ ความสนใจอย่างกว้างขวางทั่วโลก แต่รายละเอียดหลักเกณฑ์อาจไม่เหมาะสมกับประเทศไทยที่มีสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้นแตกต่างจากประเทศสหรัฐอเมริกา
underhill                    6. สถาปัตยกรรมแนวธรรมชาติ : ทิศทางใหม่ในประเทศไทย
                      ปัจจุบัน สถาปัตยกรรมแนวธรรมชาติ และสถาปัตยกรรมเขียว ที่เน้นการ ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับ สิ่งแวดล้อม เริ่มได้รับความสนใจในการเรียนการสอนและการออกแบบก่อสร้าง จริงของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ของไทยมากขึ้นตามลำดับ ตัวอย่างเช่น “ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านเทคโนโลยีอาคารและสิ่งแวดล้อม” คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ริเริ่มงานออกแบบแนวธรรมชาติมาแล้วกว่า 10 ปี โดยมีตัวอย่างผลงานการออกแบบและก่อสร้างจริงที่ปากช่อง ซึ่งเป็นการออกแบบโดยคำนึงถึงรูปทรงของอาคารที่เหมาะสม กับเทคโนโลยีอาคาร รวมทั้งระบบนิเวศอย่างครบวงจร (ลิขสิทธิ์ของบริษัท GG Advantage จำกัด) กับทั้งยังได้นำมาประยุกต์ใช้กับอาคารสภาสถาปนิกแห่งใหม่ บนถนนพระราม 9 โดยมีสถาบันวิชาชีพหลายแห่งของรัฐให้ความสนใจ รวมทั้งให้การสนับสนุนการสร้างอาคาร ในแนวทางดังกล่าวมากขึ้น นอกจากนี้ ที่คณะฯ ยังได้มีการสอนให้นิสิตมองเห็นประโยชน์ของธรรมชาติต่อคุณค่าด้าน การออกแบบ โดยเล็งเห็นว่าการศึกษา ธรรมชาติแวดล้อมสามารถเป็นต้นแบบ นำไปสู่การสร้างสรรค์ผลงานและรูปทรง ที่มีสัดส่วนลงตัวสวยงามได้ ดังได้มีการ ตีพิมพ์หนังสือ “สถาปัตยกรรมจาก รูปทรงธรรมชาติ” มีข้อความตอนหนึ่งว่า “ธรรมชาติมีหลายสิ่งหลายอย่างให้เรียนรู้ รูปทรงและสัดส่วนที่กลมกลืนสอดคล้องกันอย่างลงตัว นับเป็นบทเรียนสำคัญให้ มนุษย์ได้ศึกษาค้นคว้าและวิจัยทดลอง เพื่อให้เกิดความแปลกใหม่หรือนวัตกรรมอยู่เสมอ ธรรมชาติจึงเป็นครู เป็นบทเรียนอันมีค่ายิ่ง” นอกจากนี้ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เน้นการสอนแนวสถาปัตยกรรมยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม Underhill, Yorkshire Nine-Houses, Dietikon เป็นปรัชญาของหลักสูตรมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 และเมื่อปี พ.ศ. 2553 นี้เอง ก็ได้จัดตั้ง “ศูนย์นวัตกรรมอาคารและเทคโนโลยี (CBIT)” เป็นศูนย์การวิจัย และบริการวิชาการเฉพาะทางด้าน สถาปัตยกรรมยั่งยืน หรืออาคารเขียว และสภาพแวดล้อม ในขณะที่คณะ นอกจากมหาวิทยาลัยแล้ว สมาคมวิชาชีพในแวดวงการก่อสร้าง ก็ได้ให้ความสำคัญและตื่นตัวกับการ ออกแบบอาคารเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อมกัน มากขึ้น เช่น สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ASA) ก็ได้ ตระหนักถึงความสำคัญของสถาปัตยกรรมแนวธรรมชาติ โดยกำหนดให้มี พันธกิจหลักในการดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่ Green Architecture ส่งเสริมให้เกิด สถาปัตยกรรมเขียว มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติของโลก ลดภาวะโลกร้อนและ รักษาสภาพแวดล้อม มีการจัดทำ ASA Green Guide เป็นคู่มือการออกแบบอาคารเพื่อรักษาสภาพแวดล้อม และ การประหยัดพลังงาน รวมทั้งร่วมมือกับ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ว.ส.ท.) จัดตั้ง สถาบันอาคารเขียวไทย และจัดทำหลัก- สถาปัตยกรรมศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ก็ได้ให้ความสำคัญ กับการวิจัยด้านอาคารเขียว และให้ บริการหน่วยงานภายนอกที่ประสงค์จะประเมินสถานะอาคารเขียวของตน เป็นต้น
                     เกณฑ์การประเมินรับรองอาคารเขียว หรือ Green Building สำหรับประเทศ ไทย เช่นเดียวกับเกณฑ์การประเมิน ระบบ LEED ของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินให้มีความเหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ และภูมิอากาศของประเทศไทยด้วย รวมทั้งการประเมินและให้การรับรอง อาคารที่ผ่านเกณฑ์ โดยมีเป้าหมายให้ สามารถดำเนินการได้ในปี พ.ศ. 2553 นอกจากนี้ ยังมี “สภาสถาปนิก” ซึ่ง เป็นองค์กรที่มีหน้าที่ออกหรือเพิกถอนใบอนุญาตแก่ผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม ตลอดจนรับรองความรู้ ความชำนาญในการประกอบ วิชาชีพสถาปัตยกรรม ที่กำลังดำเนินการ จัดทำดัชนีประเมินคุณภาพอาคารและ สิ่งแวดล้อมที่เหมาะกับประเทศไทยอย่างแท้จริง จากการทบทวนแนวคิดเรื่อง สถาปัตยกรรมแนวธรรมชาติ และสถาปัตยกรรมเขียวดังกล่าวมา จึงคาดการณ์ ได้ว่า ในอนาคตทิศทางการออกแบบและ การก่อสร้างอาคารทั้งในต่างประเทศและ ในประเทศไทยเอง จะมุ่งเน้นในเรื่องการออกแบบอาคารที่ประหยัดพลังงานและ ทรัพยากรมากขึ้น มีความกลมกลืนกับ ธรรมชาติและเป็นมิตรต่อระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สามารถลดภาวะโลกร้อนได้มากขึ้น ทั้งนี้ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และองค์กรวิชาชีพด้าน การออกแบบและก่อสร้าง จะต้องเป็นองค์กรนำในการศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติ การพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านสถาปัตยกรรมเขียว การศึกษาวิจัยและ พัฒนาเทคโนโลยีอาคารเขียว รวมทั้งการ ขับเคลื่อนสถาปัตยกรรมแนวธรรมชาติ หรือสถาปัตยกรรมเขียวสู่ภาคปฏิบัติ อย่างจริงจังต่อไป วิชาสถาปัตยกรรมแนวธรรมชาติ ควรจะมีการเรียนการสอนกันมากขึ้น ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐ  ควรมีนโยบายสนับสนุนการศึกษาวิจัย สถาปัตยกรรมแนวธรรมชาติแก่มหาวิทยาลัย และการพัฒนาอาคาร แนวธรรมชาติแก่ผู้ประกอบการหรือเจ้าของอาคาร เช่น มาตรการสนับสนุนทางด้านภาษีหรือสิทธิประโยชน์อื่นๆ นอกจากนี้ สถาบันการเงินควรจะมีนโยบายสนับสนุนด้านสินเชื่อแก่ผู้ ประกอบการและผู้ซื้อที่อยู่อาศัยที่ ประหยัดพลังงาน เป็นมิตรกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาโลกร้อนและการรับผิดชอบต่อสังคมด้วย
ที่มาของข้อมูล : ธรรมชาติศึกษาและที่อยู่อาศัยเชิงนิเวศ /วารสารธนาคารอาคารสงเคราะห์ /GHBHomeCenter.com