กฎหมายวิชาชีพ ความเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบวิชาชีพและองค์กรที่เกี่ยวข้อง


สืบเนื่องจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ.2543 แทน พระราชบัญญัติวิชาชีพสถาปัตยกรรม พ.ศ.2508โดยเปลี่ยนบทบาท 
           การควบคุมการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมจากกระทรวงมหาดไทย โดย คณะกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม(ก.ส.) มาเป็นองค์กร "สภาสถาปนิก" ซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และจากการประกาศใช้กฎกระทรวงควบคุมการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม 4 สาขา เมื่อปี พ.ศ.2542 ในชื่อเรียก "กฎกระทรวงฉบับที่ 9 พ.ศ.2542" ซึ่งได้ประกาศให้วิชาชีพสถาปัตยกรรมประกอบไปด้วย 4 สาขาคือ สาขาสถาปัตยกรรมหลัก สาขาสถาปัตยกรรมผังเมือง สาขาภูมิสถาปัตยกรรม และสาขาสถาปัตยกรรมมัณฑนศิลป์ และในปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนมาเป็น "กฎกระทรวงกำหนดวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม พ.ศ. 2549"* ออกตาม พระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ.2543** และ กฎกระทรวงฯ พ.ศ.2549 ยังคงประกอบไปด้วย 4 สาขาวิชาชีพสถาปัตยกรรมเหมือนเดิม เพียงแต่ได้เปลี่ยนชื่อสาขา "สถาปัตยกรรมมัณฑนศิลป์" เป็น "สถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์" โดยที่ในปัจจุบันกำลังอยู่ในระหว่างกระบวนการร่างกฎหมายในระดับ "ข้อบังคับ" ออกมาเพื่อให้กฎหมายหลักสามารถบังคับใช้ได้
* อ้างอิงจาก http://www.coa.or.th/download/document/ministerial-vocation.pdf
** อ้างอิงจาก http://www.coa.or.th/download/law/020101.pdf
กฎหมายวิชาชีพที่กล่าวถึงข้างต้น (กฎกระทรวงกำหนดวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม พ.ศ. 2549) ในทางปฏิบัติเมื่อประกาศใช้แล้ว ผู้ที่ประกอบวิชาชีพในสาขาใดๆตามระบุในกฎกระทรวงจะต้องเป็นผู้ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพในสาขานั้นๆ โดยมีระยะเวลาผ่อนผันตามบทเฉพาะกาลให้ผู้ที่ยังไม่มีใบอนุญาตฯยื่นขอใบอนุญาตได้ภายในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งกฎหมายนี้ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2549 มีสาระสำคัญในส่วนของสาขาสถาปัตยกรรมภายในฯระบุนิยามของสาขา ไว้ดังนี้
-"สาขาสถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์" หมายความว่า วิชาชีพสถาปัตยกรรมที่ใช้ศาสตร์และศิลป์ในการออกแบบเพื่อสร้างสรรค์องค์ประกอบทางกายภาพและสภาพแวดล้อมภายในอาคาร
-งานสาขาสถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์ คืองานสำหรับพื้นที่ภายในอาคารสาธารณะที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 500 ตารางเมตรขึ้นไป
-มีขอบเขตงาน 5 ลักษณะคือ "งานศึกษาโครงการ งานออกแบบ งานบริหารและอำนวยการก่อสร้าง งานตรวจสอบ และงานให้คำปรึกษา"
ผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมภายในหรือมัณฑนศิลป์ในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสภาสถาปนิกโดยผ่านทางสมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย ในช่วงปี พ.ศ.2543 ไปแล้ว และส่วนหนึ่งก็ได้ยื่นขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมสำหรับสาขาสถาปัตยกรรมภายในหรือมัณฑนศิลป์ไปแล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 เป็นต้นมา โดยมีจำนวนปรากฏในทะเบียนของสภาสถาปนิกดังนี้ ระดับวุฒิสถาปนิก 158 คน ระดับสามัญสถาปนิก 131 คน และระดับภาคีสถาปนิก 148 คน (ข้อมูล ณ ปี พ.ศ. 2549) สำหรับขั้นตอนการขอใบอนุญาตในปัจจุบันจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนดังนี้

1. สมัครเป็นสมาชิกสภาสถาปนิก ในประเภทสมาชิกสามัญ โดยที่บุคคลนั้นๆต้องมีคุณวุฒิการศึกษาที่สภาสถาปนิกรับรอง
เมื่อได้รับการประกาศให้เป็นสมาชิกสภาสถาปนิกแล้วจึงดำเนินการขั้นตอนยื่นขอรับใบอนุญาตฯต่อไป
2. ยื่นขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม สาขาสถาปัตยกรรมภายในมัณฑนศิลป์ เมื่อได้รับการประกาศให้เป็นสมาชิกสภาสถาปนิกแล้ว ให้ปฏิบัติดังนี้

-ผู้ที่สำเร็จการศึกษาก่อนปี พ.ศ.2546 ให้ยื่นขอโดยใช้ระเบียบข้อบังคับเดิมได้ (ข้อบังคับสภาสถาปนิก ว่าด้วยการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม ระดับภาคีสถาปนิก ระดับสามัญสถาปนิก และระดับวุฒิสถาปนิก สาขาสถาปัตยกรรมผังเมือง สาขาภูมิสถาปัตยกรรม และสาขาสถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์ พ.ศ. 2545)*** ซึ่งมีสาระสำคัญในเชิงคุณสมบัติคือ จำนวนปีประสบการณ์ เช่น ถ้าสำเร็จการศึกษาแบบหลักสูตร 5 ปี ยื่นระดับวุฒิสถาปนิกต้องมีประสบการณ์มาแล้ว 13 ปี หรือ ระดับสามัญสถาปนิกต้องมีประสบการณ์มาแล้ว 5 ปี เป็นต้น ทั้งนี้ยังต้องยื่นผลงาน****ตามจำนวนที่สภาสถาปนิกกำหนดประกอบ
*** อ้างอิงจาก http://www.coa.or.th/download/law/010210.pdf
**** อ้างอิงจาก http://www.coa.or.th/services02_info03d.html

-ส่วนผู้ที่สำเร็จการศึกษาหลังปี พ.ศ.2546 ให้ยื่นขอโดยใช้ระเบียบข้อบังคับใหม่ได้ (ร่างข้อบังคับสภาสถาปนิก ว่าด้วยหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม ระดับภาคีสถาปนิกพิเศษ ระดับภาคีสถาปนิก ระดับสามัญสถาปนิก และระดับวุฒิสถาปนิก พ.ศ.......) ซึ่งเป็นร่างข้อบังคับที่ผ่านการลงมติจากที่ประชุมใหญ่วิสามัญสภาสถาปนิก ครั้งที่ 1/2550 เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2550 แล้ว และกำลังอยู่ในขั้นตอนเสนอกระทรวงมหาดไทย เพื่อประกาศใช้ต่อไป ซึ่งในสาระสำคัญคือ จะต้องผ่านการทดสอบและอบรมตามระเบียบที่สภาสถาปนิกกำหนด (สามารถดูรายละเอียดได้จากเอกสารประชุม http://www.coa.or.th/download/news500119-02.pdf หน้า 52)

-ส่วนผู้ที่สำเร็จการศึกษาในสาขาใกล้เคียง/เทียบเท่า ตามที่สภาสถาปนิกได้ร่างระเบียบข้อบังคับ ให้กับผู้ที่มีคุณวุฒิการศึกษาใกล้เคียง/เทียบเท่า และนำเข้าที่ประชุมใหญ่วิสามัญสภาสถาปนิก ครั้งที่ 1/2550 ไปเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2550 แล้วนั้น ปรากฎว่าร่างข้อบังคับนี้ไม่ผ่านมติของที่ประชุม เนื่องจากในร่างขอบังคับนี้มีประเภทของคุณวุฒิและคุณสมบัติหลายอย่าง เช่นคุณวุฒิข้ามสาขา อนุปริญญา ปริญญาที่สูงกว่าปริญญาตรี คุณวุฒิเทียบเท่า สมาชิกมีความเห็นหลากหลายและไม่สามารถทำความเข้าใจได้ทั้งหมด จึงต้องนำกลับไปพิจารณาแก้ไขร่างข้อบังคับนี้ใหม่ ขณะนี้จึงยังไม่สามารถยื่นขอรับใบอนุญาตฯได้ โดยทางสมาคมมัณฑนากรฯได้ดำเนินการในเรื่องนี้ให้กับผู้ที่มีคุณวุฒิการศึกษาใกล้เคียง/เทียบเท่า มาตั้งแต่เริ่มมีสภาสถาปนิก และพยายามผลักดันให้ร่างข้อบังคับนี้ผ่านความเห็นชอบของสภาสถาปนิกต่อไป (สามารถดูรายละเอียดได้จากเอกสารประชุม http://www.coa.or.th/download/news500119-02.pdf หน้า 61)

องค์กรที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบันองค์กรวิชาชีพและวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์ มีดังนี้
1. สภาสถาปนิก เป็นองค์กรตามกฎหมายพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ.2543 มีอำนาจและหน้าที่ในการควบคุมดูแลการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมสาขาต่างๆ เช่นการออกใบอนุญาตฯ การรับรองปริญญาและคุณวุฒิการศึกษา รับรองความรู้ความชำนาญ การออกข้อบังคับต่างๆเพื่อนำมาปฏิบัติใช้กับสภาสถาปนิก จรรยาบรรณวิชาชีพ เป็นต้น (ดูอำนาจหน้าที่ได้จากhttp://www.coa.or.th/download/law/020101.pdf) ดังนั้นผู้ที่ประกอบวิชาชีพหรือกำลังจะประกอบวิชาชีพทางสถาปัตยกรรมสาขาต่างๆจึงต้องเกี่ยวข้องกับสภาสถาปนิก (http://www.coa.or.th) โดยตรง
2. สมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรวิชาชีพของนักวิชาชีพสถาปนิกภายใน หรือ มัณฑนากร หรือ นักออกแบบตกแต่งภายใน ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2531 เป็นการรวมกลุ่มของนักวิชาชีพที่กล่าวถึงข้างต้น โดยอยู่ภายใต้กฎหมาย "ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์" (บรรพ1 หลักทั่วไป ลักษณะ2 บุคคล หมวด2 นิติบุคคลส่วนที่2 สมาคม มาตรา 78-109) โดยมีวัตถุประสงค์และบทบาท เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติวิชาชีพของสมาชิก ด้วยการเป็นตัวแทนของสมาชิกในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เช่น เป็นผู้แทนในองค์กรควบคุมวิชาชีพสถาปัตยกรรม การจัดการเสริมสร้างความรู้และพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่องให้กับสมาชิก การจัดหารายได้เพื่อประโยชน์ขององค์กรในการจัดกิจกรรมต่างๆ การติดต่อสร้างความสัมพันธ์กับองค์กรวิชาชีพในสาขาเดียวกันในระดับนานาชาติ และกับองค์กรวิชาชีพสาขาที่เกี่ยวข้องในระดับประเทศและนานาชาติ การจัดกิจกรรมสร้างสัมพันธ์และความสามัคคีในหมู่สมาชิก ดังนั้นนอกจากเราจะมีสภาสถาปนิกซึ่งทำหน้าที่ตามกฎหมายวิชาชีพแล้ว สมาคมยังเป็นองค์กรวิชาชีพที่จะสนับสนุนสมาชิกในส่วนอื่นๆ และควรที่จะเสริมสร้างองค์กรในระดับสมาคมให้มีความก้าวหน้าต่อไป เพื่อประโยชน์ทั้งต่อสมาชิกเอง ต่อสังคม สาธารณะและประเทศชาติ
3. สภาวิชาการสถาปัตยกรรมภายในและออกแบบภายในแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรวิชาการของภาควิชาและสาขาวิชาจากสถาบันระดับอุดมศึกษาที่มีการเรียนการสอนในสาขาวิชาสถาปัตยกรรมภายในและออกแบบภายใน เริ่มก่อตั้งและดำเนินการเมื่อปีการศึกษา 2544 ปัจจุบันมีสมาชิกจากสถาบันการศึกษาระดับอุดมศิกษาจำนวน 16 แห่ง มีการจัดกิจกรรมต่างๆในด้านการบริการวิชาการ การวิจัย ข่าวสารและด้านอื่นๆตามวัตถุประสงค์ของสภาวิชาการฯเป็นประจำทุกปี โดยมีการประชุมใหญ่ทางวิชาการ การอบรมเชิงปฏิบัติการ การจัดนิทรรศการผลงาน การปัจฉิมนิเทศรวม และกิจกรรมอื่นๆที่เกี่ยวเนื่อง โดยเจ้าภาพและประธานสภาฯจะมีการหมุนเวียนกันจัด ตามลำดับของการก่อตั้งภาควิชา ทั้งนี้องค์กรดังกล่าวนี้จะเป็นผู้สนับสนุนวิชาชีพสถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์ในอีกด้านหนึ่ง เช่น การเข้าร่วมวางแผนการพัฒนาระบบการศึกษา กำหนดนโยบายในการรับรองคุณวุฒิการศึกษา และการส่งบุคลากรผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเป็นอนุกรรมการด้านการศึกษาให้กับทางสภาสถาปนิก การส่งบุคลากรเข้าร่วมสนับสนุนการดำเนินการของสมาคมมัณฑนากรและสมาคมวิชาชีพอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
จะเห็นได้ว่ากฎหมายวิชาชีพนอกจากจะเป็นการกำหนดรูปแบบของการควบคุมการประกอบวิชาชีพแล้ว ยังต้องมีองค์กรวิชาชีพ และการพัฒนาองค์กรวิชาชีพทั้งองค์กรหลัก และองค์กรสนับสนุน รวมถึงองค์กรทางด้านวิชาการ ซึ่งองค์กรต่างๆจำเป็นที่จะต้องประสานการทำงานและหาแนวทางในการพัฒนาในด้านต่างเข้าด้วยกันเพื่อให้วิชาชีพก้าวหน้าเป็นประโยชน์ต่อสังคม สาธารณะและประเทศชาติ ตามหลักการ เหตุผล และวัตถุประสงค์ในการออกกฎหมายวิชาชีพต่อไป ในส่วนของผู้ประกอบวิชาชีพนั้นทางองค์กรที่เกี่ยวข้องก็ยังต้องมีกระบวนการในการดำเนินการเพื่อให้ท่านได้ประกอบวิชาชีพต่อไป โดยการออกระเบียบข้อบังคับต่างๆอีกเป็นจำนวนมาก อาจจะต้องใช้เวลาในขั้นตอนต่างๆบ้าง เนื่องจากความซับซ้อนและความหลากหลายและจากการที่เพิ่งจะเริ่มมีกฎหมายบังคับใช้ได้ไม่นาน ผู้ประกอบวิชาชีพควรที่จะรับรู้ข่าวสารจากองค์กรต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการประกอบวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง